นักศึกษา COLA หลักสูตร Digital Governance เยือนเกาหลีใต้ เรียนรู้-ต่อยอดการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นสถาบันชั้นนำด้านกิจการสาธารณะของภูมิภาคอาเซียนและเพื่อขับเคลื่อนวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ในการพัฒนานักศึกษาสู่ความเป็นนานาชาติ ในระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (College of Local Administration: COLA) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการ COLA MPA Global Exposure 2022: เปิดโลกทัศน์นักศึกษาสู่ความเป็นสากลด้านการจัดการปกครองดิจิทัล ณ สาธารณรัฐเกาหลี”  โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสริมหลักสูตรสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ด้านการจัดการปกครองดิจิทัล (Digital Governance) และมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างเสริมสมรรถนะความเป็นนานาชาติของนักศึกษาและการเรียนรู้นอกสถานที่จากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นตัวแบบด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ชั้นนำของโลก

ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 31 คน ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาระดับปริญญา 24 คน คณาจารย์และผู้บริหาร 5 คน และเจ้าหน้าที่ 2 คน ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม พบปะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารกิจการสาธารณะจากหน่วยงานชั้นนำของเกาหลีใต้ ได้แก่ รัฐบาลมหานครโซล (Seoul Metropolitan Government) หอนิทรรศการกรุงโซลอัจฉริยะ (Smart Seoul Exhibition Hall) และมหาวิทยาลัยไซเบอร์ฮันกุก (Cyber Hankuk University of Foreign Studies: CHUFS)

รัฐบาลมหานครโซล (Seoul Metropolitan Government) เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของเกาหลีใต้ ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าการและสมาชิกสภา และมีอำนาจอิสระบางประการในการดำเนินนโยบายและจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกรุงเทพมหานครของประเทศไทย  ในโครงการนี้ คณะนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของ COLA ได้เข้าเยี่ยมชมศาลาว่าการมหานครโซล (City Hall) และศึกษารูปแบบและโครงสร้างการบริหารกิจการท้องถิ่นของมหานครรูปแบบพิเศษ รวมทั้งนโยบายและแนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนามหานครโซลให้เป็นเมืองอัจฉริยะและเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งมอบบริการสาธารณะแก่ประชาชน  ศาลาว่าการหลังนี้เป็นอาคารหลังใหม่ที่มีการออกแบบล้ำสมัยและเอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก

หอนิทรรศการกรุงโซลอัจฉริยะ (Smart Seoul Exhibition Hall) เป็นสถานที่จัดแสดงแนวคิด นวัตกรรม และผลลัพธ์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการจัดทำและส่งมอบบริหารสาธารณะแก่ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของรัฐบาลมหานครโซล ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะจำนวนมาก เช่น การจัดเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของประชาชนผ่าน Seoul Smart City Data Platform ซึ่งเก็บข้อมูลจากการเข้าใช้งาน Wi-Fi ทั่วเมืองที่ให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายโดยรัฐบาลมหานครโซล  ซึ่งผู้ที่จะใช้บริการ Free Wi-Fi จะต้องอนุญาตให้รัฐบาลมหานครโซลเข้าถึงข้อมูลการใช้บริการในครั้งนั้น ๆ ข้อมูลที่ได้จะนำไปจัดหมวดหมู่และนำไปสรุปเป็นแนวโน้มของประเด็นต่าง ๆ ที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปจัดทำบริการสาธารณะ  ทั้งนี้ ภาครัฐในเกาหลีใต้มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชนมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากกว่า 300 องค์กร  นอกจากนั้น รัฐบาลมหานครโซลยังติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในสถานที่ต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วเมือง และที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์คอยประมวลและวิเคราะห์ผล เพื่อทำหน้าที่ติดตาม สอดส่อง และแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่าง ๆ อาทิ การกระทำที่ผิดกฎหมาย การเกิดอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สภาพอากาศ เป็นต้น

    

   

นอกจากการเยี่ยมชมศาลาว่าการแล้ว คณะผู้เข้าร่วมโครงการยังได้รับฟังการบรรยายพิเศษด้านนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมหานครโซล จากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบนโยบายเมืองอัจฉริยะโดยตรงอีกด้วย  การบรรยายชี้ให้เห็นวิสัยทัศน์และปรัชญาในการประยุกต์ใช้แนวคิดเมืองอัจฉริยะของผู้ว่าการกรุงโซล ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่ประชาชน (People) นวัตกรรม (Innovation) และความยั่งยืน (Sustainability) และได้จำแนกบริการอัจฉริยะออกเป็น 3 ด้านหลัก คือ เมืองข้อมูลอัจฉริยะ (Smart Data City) เมืองแลกเปลี่ยนอัจฉริยะ (Smart Sharing City) และเมืองบริการอัจฉริยะ (Smart Service City)  ในช่วงถาม-ตอบภายหลังการบรรยายสิ้นสุดลง นักศึกษาและคณาจารย์ได้มีโอกาสสอบถามและแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความพร้อมของบุลคากรและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดิจิทัลของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งทำให้คณะผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

การปฏิรูประบบราชการ การพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ไม่อาจดำเนินการไปได้ด้วยดีหากขาดกำลังสนับสนุนเชิงวิชาการจากสถาบันการศึกษา  ในครั้งนี้ คณะผู้เข้าร่วมโครงการจึงได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยไซเบอร์ฮันกุก เพื่อเรียนรู้หลักการและแนวคิดในการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล  CHUFS เป็นมหาวิทยาลัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะการสอนภาษาต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นมหาวิทยาลัยที่มีภาควิชาการปกครองท้องถิ่นศึกษา (Department of Local Government Studies) ชั้นนำของเกาหลีใต้  คณะผู้บริหารจาก COLA  โดยได้รับเกียรติจาก Professor Dr. Jiho Jang อธิการบดีของ CHUFS ให้การต้อนรับและหารือการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา และกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้

ที่ CHUFS คณะผู้เข้าร่วมโครงการยังได้รับเกียรติในการรับฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง พัฒนาการของประเทศเกาหลีใต้จากอดีตสู่ปัจจุบัน โดย Professor Dr. Chang Soo Choe ศาสตราจารย์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์และหัวหน้าภาควิชาการปกครองท้องถิ่นศึกษา  การบรรยายนี้ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของเกาหลีใต้ การศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนเกาหลีว่าเป็นอย่างไร รวมไปถึงแนวทางในการวางนโยบายของภาครัฐที่รัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญไม่แพ้รัฐบาลแห่งชาติ  การบรรยายยังชี้ให้เห็นการกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ที่ชัดเจน โดยเน้นไปในเรื่องการเข้าถึงการศึกษา มีการวิเคราะห์หาจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองแล้วนำมากำหนดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการเปิดโอกาสการร่วมมือกับภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น  ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศไทยขนาดเล็กที่ไม่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ แต่สามารถพัฒนาตนเองให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับต้น ๆ ของโลกได้ ซึ่งเป็นเพียงประเทศที่เคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์การระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียวที่สามารถทำได้

   

     

การศึกษาดูงาน การรับฟังการบรรยายพิเศษ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในการเยี่ยมชมรัฐบาลมหานครโซล หอนิทรรศการกรุงโซลอัจฉริยะ และมหาวิทยาลัยไซเบอร์ฮันกุก ทำให้นักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูประบบราชการ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การวางผังโครงสร้างเมือง การจัดการพื้นที่อยู่อาศัย และการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการสาธารณะ ที่ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในมหานครโซลและชาวเกาหลีใต้ในภาพรวม  ยิ่งไปกว่านั้น นักศึกษายังได้ตระหนักถึงวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำของผู้นำรัฐบาลทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และกรอบคิดของคนเกาหลีใต้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศและวิถีชีวิตของประชาชนเกาหลีใต้ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปรัฐบาลและการพัฒนาประเทศให้ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จะต้องมีการสื่อสารและความร่วมมือที่ดีระหว่างรัฐบาลแห่งชาติกับรัฐบาลท้องถิ่น ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และที่สำคัญ ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน

บทเรียนและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้จากการเรียนรู้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของรัฐบาลมหานครโซลจึงนับว่าเป็นต้นแบบในการนำความรู้ไปพัฒนาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยการบริหารทุน ทรัพยากร อุดมการณ์ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ความโปร่งใส ซึ่งจะเกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศไปในทุก ๆ ด้านอย่างยั่งยืน

 

ข่าว : กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์

Scroll to Top