เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.1

ปี 2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่นผลิตบัณทิตคุณภาพ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมมาแล้ว 60 ปี นอกจากหลักสูตรและความรู้ด้านวิชาการที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแล้ว ถนนหลายเส้น ต้นไม้หลายต้น บรรยากาศ อาคาร ห้องเรียน กิจกรรม และผู้คนต่างก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง กว่าจะเป็นเช่นวันนี้ กองสื่อสารองค์กรชวนย้อนวันวานในรั้วสีอิฐ ผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation ที่ไม่เพียงแต่บอกเล่าความทรงจำ แต่ยังเป็นการเปิดหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจตลอด 60 ปีในมหาวิทยาลัยของพวกเรา

2507 กันยา เหมพัฒน์ รหัส 0001  บัณฑิต มข.รุ่นที่ 1 จากคณะเกษตรศาสตร์

ปี 2507 ความใฝ่ฝันที่อยากจะเรียนคณะเกษตรศาสตร์ ทำให้ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย “กันยา เหมพัฒน์” สาวสงขลาในวัย 18 ปี ปักหมุดอยากเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชื่อเดิม มข.) ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน และกลายเป็นหนึ่งในนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 107 คน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้งที่มหาวิทยาลัยยังสร้างไม่แล้วเสร็จ

“ช่วงนั้นจำได้ว่าต้องเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ หากจะเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ก็จะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ถ้าจะเรียนวิชาด้านการเกษตรก็จะไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ตอนนั้นนักศึกษาหญิงยังไม่มีเครื่องแบบ ป้ากับเพื่อน ๆ ก็รวมตัวกันไปขอตรามหาวิทยาลัยมาแล้วออกแบบเป็นเข็มกลัดติดเสื้อ กระดุมโลหะและหัวเข็มขัดที่สลักคำว่า “ขอนแก่น” สวมคู่กับกระโปรงสีดำ สีกรมท่า และสีเทาเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนมหาวิทยาลัยเรา”

หลังเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ นาน 2 ปี ในที่สุดนักศึกษารุ่นแรกก็ได้นั่งรถไฟมาเยือนขอนแก่น เมื่อถึงสถานีรถไฟก็ได้ไปลอดขอนไม้ขอนแก่นเป็นสัญลักษณ์ว่าถึงที่หมายแล้ว ก่อนจะเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยที่ยังมีหอพักเพียง 2 หลัง มี 2 คณะ คือ คณะเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ แม้จะไม่มีรุ่นพี่คอยต้อนรับเพราะเป็นนักศึกษารุ่นแรก แต่ข้อดีคือการที่นักศึกษามีโอกาสได้สนิทสนมกันเอง และสนิทกับคณาจารย์มากยิ่งขึ้น ไม่เพียงการเรียนการสอนในห้อง แต่ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

“ตอนนั้นยังไม่มีน้ำใช้ นักศึกษาก็จะต้องลงไปหิ้วน้ำขึ้นมาอาบกัน ช่วงไหนที่เพื่อนสอบไม่ผ่านต้องอยู่ต่อช่วงปิดเทอม เพื่อนหลายคนก็จะอยู่ด้วยเพื่อหิ้วน้ำให้เพื่อนใช้ ปล่อยให้เพื่อนได้อ่านหนังสือ มีช่วงหนึ่งรถบัสมหาวิทยาลัยประสบอุบัติเหตุมีเพื่อนบาดเจ็บหนักต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายคน ตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีอะไร สิ่งที่เราช่วยเพื่อนได้ก็คือการจดเลคเชอร์ด้วยกระดาษก๊อบปี้ส่งไปให้เพื่อนอ่าน”

บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ ตอนนั้นยังไม่มีรถโดยสาร หรือรถสองแถว การเดินทางในมหาวิทยาลัยจึงต้องใช้วิธีปั่นจักรยาน ปั่นไปไหว้เจ้าพ่อมอดินแดง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาในรั้วสีอิฐ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของนักศึกษาทุกคน ปั่นจักรยานไปแปลงเกษตรรดน้ำต้นไม้ หลังจากเราบ่มเพาะพืชพันธุ์ต่าง ๆ จนได้ผลผลิตมาเราก็เอาไปแจกจ่ายให้ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน เรือนจำ หรือสถานที่ต่าง ๆ

“ผลผลิตทางการเกษตรของเราที่ได้ไปสร้างประโยชน์ให้สังคมยังเป็นความทรงจำที่ตราตรึงใจมาจนถึงวันนี้ เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นสอนให้ป้ารู้จักการแบ่งปันและทำเพื่อสังคม วันที่รับพระราชทานปริญญาบัตรที่หอสมุด คำว่า ทำเพื่อสังคม ก็ยังคงฝังอยู่ในใจจนวันนี้ และตลอด 60 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ทำให้รู้ว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่เพียงสถานศึกษาแต่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคมอย่างแท้จริง”

เรื่อง : ผานิต  ฆาตนาค

ภาพ : กันยา เหมพัฒน์  และ หอจดหมายเหตุ มข.

ติดตามเรื่องราวของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในมุมมองอื่น ๆ ยุคต่อไป เร็ว ๆ นี้

เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.2

Scroll to Top