มข. จัดอบรม Virtual Classroom ออนไลน์ ฝ่าวิกฤติ covid-19

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2563 สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดเปิดพิธีเปิด การอบรมการเรียนการสอนในยามฉุกเฉิน ผ่าน Virtual Classroom ด้วย Google Hangouts Meet และ Microsoft Teams หัวข้อ สถานการณ์ COVID-19 และการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงานผ่านทางระบบออนไลน์  ผศ.ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ ดร. กิตติ์ เธียรธโนปจัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากร ในการนี้มีผู้เข้าอบรม ในระบบออนไลน์ผ่าน Google Hangouts Meet กว่า 100 คน

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงานผ่านทางระบบออนไลน์

ผศ.ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เผยเกี่ยวกับ จุดเริ่มต้นของโครงการว่าเกิดขึ้นจาก ความพร้อมหลายด้านประกอบกัน ประการแรก   คือ นักศึกษาที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยี อาทิ มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือ กรณีไม่มี มหาวิทยาลัยมีเป็นส่วนกลางให้เขาสามารถใช้ได้ ประการที่สอง คือ ความพร้อมด้านอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย ที่ได้ส่งเสริมให้มีระบบ Visual  Classroom ห้องเรียนเสมือน แม้นักศึกษาไม่ได้เข้าห้องเรียน แต่สามารถที่จะเรียนรู้ได้เหมือนกับการมาเรียนด้วยตนเอง เหมาะกับวิชา วิชาบรรยาย หรือ วิชาที่แสดงให้เห็น โดยดูจากอาจารย์ผู้สอน และมีการโต้ตอบได้

ผศ.ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ระบบ Visual  Classroom ห้องเรียนเสมือน มหาวิทยาลัยขอนแก่นพยายามดำเนินการมาโดยตลอด  แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเพราะนักศึกษายังมาเรียนในห้องเรียน  แต่ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา เกิดสภาวะฉุกเฉิน เช่น การระบาดของ covid-19 ซึ่งสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจจะสามารถเกิดในกรณีอื่นได้ เช่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่จะมีห้องเรียนเสมือน ซึ่งอาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้พิจารณาว่าลักษณะของวิชาสามารถทำออนไลน์ได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ Visual  Classroom หรือ ห้องเรียนเสมือนจึงมีความจำเป็น เพราะฉะนั้นสถานการณ์ที่ไทย และ ทั่วโลกกำลังเผชิญ ครั้งนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะ ที่อาจารย์ จะได้ซักซ้อมเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพื่อนำไปปรับใช้ ตามสถานการณ์ความเหมาะสม”

ผศ.ดร. เด่นพงษ์ กล่าวต่อไปว่า “การเรียนรูปแบบออนไลน์ ผ่านห้องเรียนเสมือน Visual  Classroom แตกต่างจากการไลฟ์สด ที่การโต้ตอบจะเป็นการคอมเมนต์กลับมา ในขณะที่ห้องเรียนเสมือน มีการ broadcast เหมือนกัน แต่การโต้ตอบมันมีหลากหลายมากขึ้น เช่น โต้ตอบด้วยเสียงคุย  สอบถามกันทันที สามารถเห็นหน้ากันได้เพราะว่าทุกปลายทางก็มีกล้อง ต้นทางก็มีกล้อง สามารถทำวิดีโอคอลของผู้เข้าร่วมในห้องเรียนจำนวนได้สูงสุดถึง 250 คน พร้อมกัน เหมือนกับเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่มาอยู่ร่วมกัน วิทยากรจะอบรม โดยใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ คือ คอมพิวเตอร์ที่มีกล้อง และแชร์ภาพให้ผู้เข้าอบรมทำตาม หากผู้เรียนมีคำถามสามารถโต้ตอบได้ทันที” รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าว

KKU held “Virtual Classroom Online Training” overcome Covid 19 Crisis

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง

ภาพ : ภาสพันธ์ จิโนทา

 

 

 

Scroll to Top