คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอผลงานนักศึกษาหลีกเลี่ยงการระบาดของโรค Covid-19

“ย้ำความห่วงใยที่มีนักศึกษาบุคลากร ยืนยันใช้ระบบ Virtual Exhibition ทดแทนนิทรรศการวิทยานิพนธ์ลดความเสี่ยงในสถานการณ์โรคระบาด เชื่อมั่นไม่มีผลกระทบคุณภาพและการประเมินผลงานจบของนักศึกษาในปีนี้”

 

       รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การเรียนการสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มีความเฉพาะที่เน้นภาคปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้เรียนทำผลงานขึ้นมาจริงเป็นโปรเจคงานที่ต้องมาผ่านการประเมินผลจากอาจารย์ หรือเจ้าของงานที่อาจเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งระหว่างการศึกษาก็จะมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานเป็นบางครั้ง แต่สำหรับนิทรรศการที่ถูกกำหนดไว้เป็นหลักในทุกปีคือนิทรรศการนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปีสุดท้ายทั้งหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรการออกแบบบัณฑิต เพื่อให้นักศึกษาได้นำผลงานที่จัดทำขึ้นมาแสดงออกสู่สาธารณให้ประชาชนได้เห็นถึงความสามารถของนักศึกษาของเรา รวมทั้งนักศึกษาเองยังได้ฝึกฝนเรียนรู้ในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ทั้งต่อประชาชนที่มาเยี่ยมชม และต่ออาจารย์ที่มาร่วมตรวจประเมินงาน และเป็นความภาคภูมิใจของนักศึกษาที่พัฒนาผลงานจนมาถึงวันที่จะได้แสดงผลงานของตนเอง ซึ่งเดิมในปีนี้ งาน Thesis Exhibition 2020 ของหลักสูตรการออกแบบบัณฑิต กำหนดในวันที่ 26-28 มีนาคม และ Architecture Thesis Exhibition ของหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต กำหนดในวันที่ 3-4 เมษายน จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่เหมาะสม


       รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร กล่าวอีกว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มีความห่วงใยต่อนักศึกษาและคณาจารย์และบุคลากรในช่วงของการระบาดของโรคที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อให้กับทุกคนจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการนำเสนองานและนิทรรศการมาสู่รูปแบบนิทรรศการเสมือน (Virtual Exhibition)

“การเปลี่ยน platformของผลงานนักศึกษาเป็นแนวคิดการบริหารที่ตั้งใจไว้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยให้เป็นนโยบายตามยุทธศาสตร์การบริหารคณะเพื่อให้มีการเพิ่มรูปแบบในระบบDigltalเข้าไป ซึ่งรวมถึงกิจกรรมอื่นๆที่สามารถนำเสนอผ่านระบบนี้ แต่ด้วยความคุ้นเคยในการทำงานแบบเดิมจึงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนและทำความเข้าใจ เช่นกรณีของนิทรรศการที่ต้องไปในสถานที่ผู้คนมากๆสิ่งหนึ่งที่คณะเองต้องตระหนักคือการบริหารจัดการด้านงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ เราต้องยอมรับว่ายุคของ Digital Disruptionที่เข้ามา ทำให้ platform Digltal เป็นทางเลือกของความคุ้มค่าสามารถเป็นฐานข้อมูลผลงานเพื่อการจัดเก็บผลงานของนักศึกษาที่มีความคงทนถาวรและพัฒนาต่อยอดได้เป็นอย่างดี “ รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร

       รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร กล่าวอีกว่า ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดนิทรรศการและทดแทนด้วยนิทรรศการเสมือน (Virtual Exhibition) ซึ่งทางคณะกรรมการยังมีข้อเสนอให้คณะเป็นเจ้าภาพในการช่วยเหลือจัดทำนิทรรศการเสมือน (Virtual Exhibition)ให้กับนักศึกษา จึงได้ตั้งคณะกรรมการฐานข้อมูลขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ ที่รวมถึงวิธีการที่จะให้นักศึกษายังได้ร่วมประเมินผลงานกับอาจารย์เช่นเดิม ซึ่งในสภาวะปกติเราให้นักศึกษาได้ส่งผลงานและนำเสนอโดยตรงกับอาจารย์จากนั้นก็มีการคัดเลือกผลงานเพื่อนำเสนอเป็นนิทรรศการ แต่เราได้เปลี่ยนแปลงเป็นการจัด Unit ถ่ายทำเทปการนำเสนอให้นักศึกษาได้มาเสนอผลงานให้อาจารย์ได้นำไปตรวจโดยไม่ต้องพบกับอาจารย์โดยตรงหลีกเลี่ยงการพบปะ นำผลงานทุกอย่างเข้าสู่ระบบเพื่อเก็บในรูปแบบไฟล์นำไปสู่การจัด Virtual Exhibition ซึ่งสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาต้องเรียนรู้คือการเตรียมตัวในการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่เขาจะต้องเตรียมสคริปการนำเสนอให้ดีที่สุด แม้ระบบนี้จะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับสถานการณ์แต่เราก็ยอมรับว่ามันมีจุดอ่อนในเรื่องการปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้าและการถามตอบโดยตรงระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา แต่ทั้งนี้การนำเสนอผลงานนั้นได้มีการตรวจแบบร่างและการประเมินจากอาจารย์มาอย่างต่อเนื่องทำให้การพบปะกันครั้งสุดท้ายไม่ได้เป็นตัวตัดสินผลงานทั้งสิ้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าประสิทธิภาพในการประเมินและคุณภาพของผลงานนักศึกษาเรายังคงมีมาตรฐานเช่นเดิม

ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการสูญเสียโอกาสของนักศึกษาที่จะได้พบปะกับผู้ประกอบการหรือบริษัทผู้จ้างงานที่อาจเข้ามาเลือกดูผลงานจากนิทรรศการโดยตรง รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร กล่าวว่า นักศึกษาของเราได้ถูกฝึกประสบการณ์และผ่านกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีคณาจารย์ที่มีความรู้ประสบการณ์ ทำให้เรามั่นใจในเรื่องคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดงาน การจัดนิทรรศการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนำผลงานที่เกิดขึ้นในระหว่างการศึกษาของเขาเอง ซึ่งเราก็ยอมรับว่ามันสูญเสียปฏิสัมพันธ์ไปบ้าง แต่จากข้อมูลพบว่านักศึกษาของเรามักถูกพิจารณาตั้งแต่ได้เข้าไปฝึกงานแล้วในขณะที่การสมัครงานก็ต้องใช้ portfolio เพื่อแสดงผลงานความสำเร็จของตนเองการนำผลงานเข้าสู่ platform Digltal จะเป็นฐานข้อมูลและยังจะเป็นสิ่งที่นักศึกษาสามารถเก็บไว้เพื่อการใช้ประโยชน์.ในอนาคตได้ สิ่งเหล่านี้ทุกอย่างมันจะไปตอบโจทย์ตั้งแต่การเลือกเข้ามาเรียนกับเราที่เด็กๆไปหาข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ ผู้ประกอบการมองจากความสามารถในขณะนักศึกษาฝึกงานซึ่งเราเปลี่ยนใช้ระบบสหกิจแล้ว นอกจากนี้ลักษณะการทำงานของสถาปนิกและนักออกแบบเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่เดิมคือการเข้าไปอยู่กับบริษัท มาเป็นการทำงานด้วยตัวเอง รวมกลุ่มกันเป็น Module และบริษัทเสมือน virtual office หรือ ทำงานแบบ co-working space ผ่านสื่อดิจิตอลที่ต่างคนต่างทำงาน ผ่านการเก็บและส่งต่อข้อมูลด้วย เทคโนโลยี Cloudที่เรียกดูได้จากทุกที่เราอาจทำงานจากหลายๆ Connection ดังนั้นระบบ Hard office จะลดความสำคัญลงไป การปูทางสู่ platform Digltalจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นโอกาสของงานด้วย

       “ในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง องค์กรที่จะก้าวหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่องค์กรที่แข็งแกร่งที่สุด ร่ำรวยที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นองค์กรที่สามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นที่สุด ในนามของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น…ขอขอบคุณคณาจารย์และบุคลากรที่ให้ความร่วมมือ รู้บทบาทหน้าที่ตนเอง เข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน ไม่ตื่นตระหนก สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอน การสอบ การส่งงาน และการนำเสนองานมาเป็นที่ลดการมาพบปะกันโดยตรง และสามารถป้องกันตนเองได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีการให้กำลังใจกันและกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในช่วงเวลานี้ และขอขอบคุณนักศึกษาทุกคนที่ให้ความร่วมมืออย่างดีมากๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาดในภาพรวม ทั้งในการป้องกันตนเอง การปรับเปลี่ยนวิธีการและสถานที่ในการทำงาน รวมไปถึงการช่วยกันระมัดระวังไม่มารวมตัวชุมนุมหรือรวมตัวกันโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่เฝ้าระวัง” รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร กล่าวในที่สุด


ข่าว อุดมชัย สุพรรณวงศ์

Scroll to Top