KKBS จับมือ 6 คณะ พร้อม สมาคมดิจิทัลไทย สมาคมอีคอมเมิร์ซไทย และ อินเทลลิจิสต์ สร้างหลักสูตร Digital Entrepreneur ปรับโฉมการศึกษา ลุยผลิตผู้ประกอบการดิจิทัล มุ่งสร้างอาชีพ นศ. พลิกเศรษฐกิจไทย

คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สมาคมดิจิทัลไทย สมาคมอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย และ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย คุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย คุณชนะ สุพัฒสร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด ร่วมลงนาม ในการนี้มีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และ นักศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือ ณ ห้องประชุมเพียงฟ้า (ห้องประชุม 1-2) ชั้น 6 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมดิจิทัลไทย สมาคมอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย และ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมกับเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ การวิจัย และการบริการวิชาการร่วมกัน เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพและสหกิจศึกษาสำหรับนักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาการประกอบการดิจิทัล และหลักสูตรอื่น ๆ ของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และ การดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติรอบด้านจึงเป็นความท้าทายยิ่งสำหรับสถาบันการศึกษาทั่วโลก มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประทศ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนการศึกษา (Education Transformation) เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความพร้อมในการเป็นพลเมืองโลกในอนาคต ที่มีความความสามารถและทักษะต้านดิจิทัลและธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

“มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สนับสนุนให้คณะบริหารธุรกิจและการบัญชีร่วมมือกับอีก 5 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และ คณะศึกษาศาสตร์ รวมเป็น 6 คณะ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการประกอบการดิจิทัล Digital Entrepreneur จะเปิดดำเนินการสอนในปีการศึกษา 2564 เป็นหลักสูตรแนวใหม่ New Paradigm Curriculum ใช้การเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom และ จัดเป็นชุดวิชา เพื่อให้การดำเนินการหลักสูตรนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านอธิการบดีในการเป็นหลักสูตรนำร่องการสอนแบบใหม่ จึงได้ดำเนินงานร่วมกับ สมาคมดิจิทัลไทย สมาคมอีคอมเมิร์ซ ประทศไทย บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด ซึ่งการลงนามความร่วมมือในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านวิชาการและทักษะในการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี กล่าว

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หลักสูตรการประกอบการดิจิทัล Digital Entrepreneur เป็นหลักสูตรตามยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้านการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา Education Transformation ซึ่งมีคำสำคัญ 3 คำ คือ เปลี่ยนจาก Teaching paradigm เป็น Learning paradigm จากเน้นการสอนมาเป็นเน้นการเรียนรู้ เปลี่ยนเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต  และ สร้างหลักสูตรแนวใหม่ ซึ่งหลักสูตร Digital Entrepreneur เป็นหลักสูตรที่อยู่ในกลยุทธ์ที่ 3 คือ เป็นหลักสูตรแนวใหม่ โดยเราได้ผนวก การสอนแบบเน้นการเรียนรู้ การจัดการศึกษาตลอดชีวิต เข้ามาเกี่ยวข้อง  หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่เป็นความหวังของมหาวิทยาลัยในเป็นหลักสูตรตัวอย่าง ที่จะทำให้คณะวิชาต่าง ๆ เห็นว่า New Paradigm เป็นอย่างไร และ เราได้พัฒนามาโดยลำดับ

“ขอบคุณรองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และ คณะ ที่เป็นผู้นำในการพัฒนาหลักสูตร โดยใช้เวลาประมาณปีเศษ ๆ  จนกระทั่งวันนี้ แนวคิดของหลักสูตรได้เสร็จสิ้น หลักสูตร Digital Entrepreneur เป็น New Paradigm มีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ เป็นหลักสูตรที่มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ ซึ่งมี 6 คณะมาร่วมทำหลักสูตร เป็นหลักสูตรให้เน้นผลลัพธ์หรือสมรรถนะเด็กโดยเราสามารถบอกได้ว่านักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรนี้จะมีความรู้หรือทักษะอะไร ซึ่งจะต้องเรียนในสถานการณ์จริง เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถเรียนในห้องเรียนมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เราจึงจำเป็นต้องมีพันธมิตร หุ้นส่วน ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นเวทีให้คณาจารย์และนักศึกษาได้เรียนรู้ไปกับภาคผู้ประกอบการจริง”

อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อว่า “ผู้บริหาร สมาคมดิจิทัลไทย สมาคมอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย เป็น 2 คนไทยที่โลดแล่นอยู่ในธุรกิจ international e-commerce การได้รับความร่วมมือจาก 2 หน่วยงานจะทำให้หลักสูตร Digital Entrepreneur มีความสมบูรณ์และจะเป็นหลักสูตรที่เติมความฝันของเราได้ เพราะนักศึกษาเมื่อจบออกไปแล้วจะสามารถเป็นผู้ประกอบการ หรือ เป็นกำลังสำคัญของบริษัทใหญ่ ๆ นอกจากนี้ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด ยังเป็นบริษัทประกอบกิจการด้านปัญญาประดิษฐ์มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯมีสาขาที่ขอนแก่น ซึ่ง เคยร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ สาขา computer scienceมาแล้ว ฉะนั้นการที่ได้บริษัท อินเทลลิจิสต์ มาเป็นหุ้นส่วนยิ่งจะช่วยเติมเต็ม การพัฒนาการศึกษา พัฒนาการทำธุรกิจของคนไทยให้มีศักยภาพมีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้” นพ.ชาญชัย กล่าว

คุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย

คุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย กล่าวว่า เมื่อได้รับข่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะทำหลักสูตรเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนตนเองมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่เกิดสิ่งนี้ในประเทศไทย เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้เด็ก และน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่บูรณาการศาสตร์หลายคณะเป็นหลักสูตรใหม่  เป็นปรากฏการณ์ที่ในอนาคตเราจะได้เห็นเพื่อนจากหลายคณะมาทำโปรเจคปีสุดท้ายที่เป็นผลงานจริง ๆด้วยกัน และอาจจะตั้งเป็นธุรกิจใหม่ เหมือนที่จีนทำอยู่ในขณะนี้ ฉะนั้นเชื่อมั่นว่าหลักสูตรตรงนี้ตอบโจทย์เด็กแน่นอน เชื่อว่าจะมีเยาวชนอีกมากมายที่บอกกันปากต่อปาก

“ผมเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานกับ google facebook และอีกหลายหน่วยงาน จะสามารถดึงผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ซึ่งจะนำไปสู่การตอบโจทย์สำคัญที่ว่าโลกต้องการอะไร และเราทำอะไรให้โลกได้บ้าง” นายกสมาคมดิจิทัลไทย กล่าว

คุณชนะ สุพัฒสร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด

คุณชนะ สุพัฒสร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด กล่าวว่า คำว่า Entrepreneur เป็นคำที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวเห็นภาพน้อง ๆ หลายคนที่เรียนจบไปไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเท่าที่ควร ถึงแม้จะเก่งแต่ทำไมทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ จุดหนึ่งผมคิดว่าเราขาดประสบการณ์

“ฉะนั้น หลักสูตรนี้จะเป็นการพบกันของวิชาการและการทำธุรกิจจริง แม้ว่าแง่มุมของการทำธุรกิจมีความแตกต่างจากแง่มุมทางวิชาการ แต่ไม่ได้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  ฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะเพิ่มมูลค่าของตนเองได้ สิ่งนี้ต่างหากเป็นโจทย์ที่มีความสำคัญ จากประสบการณ์ของเราเอง แนวทางวิชาการ หลักสูตรที่ประชุมร่วมกันมา ผมมีความมั่นใจว่าหลักสูตรนี้จะประสบความสำเร็จ  สิ่งที่ผมอยากให้เกิดเป็นผลงานที่แท้จริงจากหลักสูตรนี้ คือ น้อง ๆ ที่เข้ามารับการศึกษาสามารถไปทำธุรกิจได้และประสบความสำเร็จ  ผมเชื่อว่าหากนำความรู้และประสบการณ์ของคนรุ่นผมซึ่งอายุ ราวๆ 47-48 ปี ถ่ายทอดให้น้อง ๆ อายุ 20 ต้นๆ แล้วร่วมมือกันทำธุรกิจไปพร้อม ๆกับการเรียนรู้  จะการทำแบบสั่งสม เป็น life long learning การเรียนรู้ตลอดชีวิต หากเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าวันหนึ่ง เราจะมี แจ็คหม่าขึ้นมา 1 คน  ถ้าเราสามารถเรียนรู้วิชาการ ควบคู่กับการเรียนรู้การทำธุรกิจได้วันนั้นประเทศเราจะเปลี่ยน เพื่อการนี้ผมจึงยินดีสนับสนุนเต็มที่รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด กล่าว

ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมดิจิทัลไทย สมาคมอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย และ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด มีกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 8 กันยายน 256 8 โดยมีสาระสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และ บริการวิชาการร่วมกัน และ พัฒนาเพิ่มพูนประสบการณ์สำหรับนักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการดิจิตอล และ หลักสูตรอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านวิชาการและทักษะในการปฏิบัติงาน

Scroll to Top