อักษร เอ็ดดูเคชั่น เปิดสถาบัน EdCA จับมือม.ขอนแก่น พัฒนาหลักสูตร ‘โค้ดดิ้ง’ ทักษะแห่งโลกอนาคต

สำนักข่าว: ข่าวสดออนไลน์
URL: https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_4883512
วันที่เผยแพร่: 10 ก.ย. 2563

อักษร เอ็ดดูเคชั่น ผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และนวัตกรรมทางการศึกษาครบวงจร ชูนโยบายสร้างทักษะการใช้ชีวิตของเด็กไทย ผลักดันให้ผู้เรียนมีความพร้อมสำหรับโลกยุคใหม่ เปิดตัวสถาบัน Education for Competency Achievement Institute หรือ EdCA สถาบันด้านการออกแบบหลักสูตรการอบรมและพัฒนาครูเพื่อจัดการเรียนรู้อย่างมีกระบวนการในด้าน การอ่านออก เขียนได้ และด้านเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณและออกแบบเทคโนโลยี)

ล่าสุด จับมือพัฒนาหลักสูตรร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อยกระดับครู ผู้เรียน และบุคคลากรทางการศึกษา มุ่งเป็นจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสริมให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนางานในชีวิตจริง มีทักษะการคิดขั้นสูง คิดอย่างมีวิจารณญาณ และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน ที่ห้องสมุดภูมิภิรมย์ อาคาร 50 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การก้าวผ่านจากโลกปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคเก่าไปสู่โลกยุคดิจิทัล ทำให้ทักษะการใช้ชีวิตในบริบทของโลกปัจจุบันไม่เพียงพออีกต่อไป เด็กๆของเราในวันนี้จะต้องเตรียมตัวรับมือกับปัญหาและความท้าทายจากโลกแห่งอนาคต

ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐดังเช่นมหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้ ถือเป็นสัญญาณของการร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาและยกระดับบุคคลากรทางการศึกษา ในสาขานวัตกรรมการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ทักษะการคิดเชิงคำนวณในการวิเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ มีทักษะในการค้นหาข้อมูลหรือสารสนเทศ เพื่อใช้ประยุกต์กับการแก้ปัญหาในชีวิตจริง และสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม

ด้านนายพาคร วงศ์อนุตรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบัน EdCA กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า EdCA คือ สถาบันภายใต้เครือกลุ่มบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) โจทย์สำคัญของเราคือ การยกระดับความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะของเยาวชนไทยทั้ง 5 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาผู้เรียนของภาครัฐ

โดยเน้นไปที่กิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีกระบวนการสำหรับผู้เรียนในวิชาวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง เพื่อสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ในการอ่านออก เขียนได้ และด้านเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณและออกแบบเทคโนโลยี) โดยครอบคลุมไปยังกลุ่มผู้เรียน และผู้สอน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายของการศึกษา ผ่านกิจกรรมตามแนวคิด Active Learning ที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง และใช้เทคโนโลยีในการถ่ายทอดความคิดออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

สามารถบูรณาการความรู้จากวิชาอื่นๆ เพื่อให้เด็กไทยสามารถ “คิดเองได้ ทำเองเป็น สร้างสรรค์นวัตกรรมได้เป็นของตนเอง” อาทิ หลักสูตรวิทยาการคำนวณ (Computing Science) หลักสูตรสะเต็มศึกษา (STEM) หลักสูตรสะตีมศึกษา (STEAM) หลักสูตรพื้นฐานอ่าน-เขียน-คิดคำนวณ (Literacy) หลักสูตรพัฒนากระบวนการคิดเพื่อเด็กปฐมวัย (Childhood Education) เป็นต้น

ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการและผลงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับกิจกรรม Unplugged Coding เพื่อสร้างพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณ อาทิ กิจกรรมการควบคุมหุ่นยนต์สำเร็จรูปด้วยบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ กิจกรรมการเขียนโค้ดดิ้งผ่าน Blocked programming กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) พร้อมสาธิตการเรียนการสอนหลักสูตร Coding for Kids ในชั้นเรียนจำลอง

ทั้งนี้ วิชาวิทยาการคำนวณถือเป็นวิชาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ทำการบรรจุให้อยู่ในสาระพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ซึ่งถือเป็นศาสตร์ที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วางแผนอย่างเป็นระบบ สามารถแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลเชิงตรรกะ และสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ เพื่อให้พร้อมต่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21

Scroll to Top