แนะ SMEs ศึกษาผู้บริโภคผ่านออนไลน์ สู่ตลาดสากล

สำนักข่าว: กรุงเทพธุรกิจ
URL:  ลิงก์
วันที่เผยแพร่: 15 ก.ย. 2563

สว. ผนึกศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) ม.ขอนแก่น จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “พลิกวิกฤต พิชิตโอกาส:SMEs ผงาดในตลาด รัสเซีย&มาเลเซีย” เปิดโอกาสผู้ประกอบการ นักธุรกิจ SMEsได้รับความรู้ เข้าใจช่องทางการส่งออกในตลาดสากล

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลได้เพิ่มกำลังขับเคลื่อน SMEs  เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างธุรกิจให้เติบโตครบวงจร ซึ่งกิจกรรมที่ได้ร่วมกับ ECBER มหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้เป็นกิจกรรมส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดช่องทางให้แก่นักธุรกิจ SMEs ไทยภายใต้กรอบความร่วมมือธุรกิจ SMEs ไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศ+8 สามารถทำการค้าการลงทุนได้มากขึ้น

“ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ โคงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่ SMEs ตามที่สสว.ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางเสนอไป โดย 30% ของ 1.3 ล้านล้านบาท มาซื้อสินค้าของ SMEs  และถ้าต้องนำเสนอราคาแข่งกับบริษัทขนาดใหญ่ไม่เกิน 10% ธุรกิจ SMEs จะได้รับการพิจารณาเลือกซื้อก่อน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่กลุ่มธุรกิจSMEs” ดร.วิมลกานต์ กล่าว

ความต้องการของสินค้าของผู้บริโภคประเทศมาเลเซียและรัสเซียมีความแตกต่าง โดยมาเลเซียต้องการสินค้าบริโภค อย่าง ผลไม้ สินค้าทางการเกษตร ขณะที่รัสเซีย จะชอบสมุนไพรไทยอย่างมาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลตลาดส่งออกของกลุ่มสินค้าเป้าหมาย SMEs ไทยประเภทอาหารเครื่องดื่ม และบริการ ในเดือนมกราคม ปี2563 พบว่า ประเทศไทยมีการส่งออกมูลค่ากว่า 587,494.39 ล้านบาท ทว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบ วิกฤตเศรษฐกิจ การส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ามาเลเซียมี 3 มิติ ที่มีต่อประเทศไทย คือ มิติแรก การเป็นคู่แข่ง มิติที่ 2 คู่ค้าสำคัญ และมิติที่ 3  เป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญ  ซึ่งในทางการค้า เศรษฐกิจ ไทยมีกรอบความร่วมมือการทำงานร่วมกับมาเลเซียจำนวนมาก  ตลาดมาเลเซีย เป็นตลาดที่น่าจะง่ายสำหรับนักธุรกิจSMEs

เนื่องจากคนมาเลเซียคุ้นเคยสินค้าไทยทุกรายการ และควรจะเป็นสินค้าอาหารเป็นหลัก เพราะมาเลเซีย เป็นประเทศที่ผลิตอาหารได้ไม่พอบริโภค อีกทั้ง มาเลเซีย เป็นประเทศที่ไม่มีอาหารประจำชาติอย่างชัดเจน เขาคุ้นเคยกับอาหาร วิถีชีวิตของคนมาเลเซีย  ดังนั้นควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคและการใช้สิทธิจากกรมภาษีอากรร่วมด้วย

“มาเลเซีย  เป็นประเทศที่ร่ำรวย และมีความเป็นพหุสังคมอย่างมาก ในตลาดมาเลเซียมีกำลังซื้อสูง และนิยมสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ข้าว ผัก ผลไม้ ชอบรสนิยมแบบไทย เช่นเดียวกับ ฮาลาล ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่ต้องเข้าใจวิถีคิด ฉะนั้น ไม่อยากให้ทุกคนเป็นแม่ค้า แต่อยากให้เป็นนักธุรกิจระหว่างประเทศ ต้องมีการทำการตลาด และอย่าหาลูกค้าให้กับสินค้าเรา แต่ต้องหาสินค้าให้กับลูกค้า”นายอดุลย์ กล่าว

ตามมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของประเทศ +8 (อาเซียน 10 ประเทศ และ อินเดีย รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อเมริกา) ในปี2562 พบว่า ตลาดหลัก (Matured Market) สูงที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา(17,856 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) รองลงมาคือ จีน (10,797 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (6,190 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

Scroll to Top