มข.แถลงความพร้อม เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 16 วันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.63

เมื่อวันอังคารที่  24  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2563  เวลา  14.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการ “การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 (The Sixteenth Thailand Olympiad in Informatics 2020)” ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2563 ณ อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมี รศ.ดร.เพียรศักดิ์  ภักดี  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวต้อนรับสื่อมวลชน ผู้ร่วมงาน พร้อมกล่าวเปิดการแถลงข่าวการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกฯ  และผศ.ดร.สมเกียรติ  ศรีจารนัย  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์  แถลงรายละเอียดของการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก และ รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และ ผศ.ดร.พุธษดี ศิริแสงตระกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมแถลงข่าว  ณ ห้องสิริคุณากร 3  ชั้น 2  อาคารสิริคุณากร  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.เพียรศักดิ์  ภักดี  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          รศ.ดร.เพียรศักดิ์  ภักดี  กล่าวว่า  “ปัจจุบันกระแสโลกที่มีการปฎิวัติอุตสาหกรรมใหม่ การพลิกโฉมโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ของชาติเพื่อการพัฒนากำลังคนในสมรรถนะด้านดิจิทัล นโยบายการความขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัล ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้วยการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเตรียมคนเพื่อรองรับภาวะปกติแบบใหม่ (New Normal) โดยนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวที่ท้าทายกับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหารจัดการด้วย Digital Transformation  การปรับเปลี่ยนด้านการศึกษา  Education Transformation การสร้าง Eco-system ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เช่น การบูรณาการศาสตร์ด้านดิจิทัลกับทางด้านการแพทย์อัจฉริยะ AI for Health การเกษตรกรรมยุคใหม่ Smart Farming ด้านผู้ประกอบการธุรกิจ Digital Entrepreneurship ซึ่งก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานหลักที่สำคัญทั้งสิ้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงคำนวณ(Computational Thinking) ด้วยการโปรแกรม (Programming) ซึ่งจะเป็นฐานความรู้ที่สำคัญสำหรับนักเรียนในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาและวิจัยทางด้านการคิดคำนวณขั้นสูง การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาซอฟต์แวร์และนวัตกรรมด้านดิจิทัลให้เป็นประโยชน์สำหรับประเทศต่อไป”

“มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มูลนิธิ สอวน. โดยมี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้มอบหมายและสนับสนุนให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16  และได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่  สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยดาต้าโฮลติ้ง จำกัด (Thai data hosting) บริษัท มีจีเนียส จำกัด บริษัท พีทีโอเอเซ็นเตอร์ จำกัด บริษัทแลคตาซอย จำกัด ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโอกาสส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษา และจะได้พร้อมใจกันให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และเป็นเจ้าภาพที่ดี”

ผศ.ดร.สมเกียรติ  ศรีจารนัย  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          ผศ.ดร.สมเกียรติ  ศรีจารนัย  กล่าวว่า  “ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 เป็นต้นมา มูลนิธิ สอวน. ได้มอบหมายให้ศูนย์ สอวน.สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ 13 ศูนย์ ทั่วประเทศ ดำเนินการจัดการอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ค่ายหนึ่งและค่ายสองให้แก่นักเรียน เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนศูนย์ ซึ่งแต่เดิมให้เข้ารับการอบรมค่าย 3 ร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศ ที่ผ่านการสอบคัดเลือกของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. แล้วคัดเลือกครั้งสุดท้ายให้ได้นักเรียน จำนวน 4 คน เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันระหว่างประเทศ นั้น การจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 ในปีพุทธศักราช 2563 นี้ นักเรียนที่เข้าแข่งขันเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมค่าย 2 ของคอมพิวเตอร์โอลิมปิก และจากการแข่งขันครั้งนี้จะคัดเลือกไว้ จำนวน 25-30 คน เพื่อเข้ารับการอบรมของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. แล้วคัดเลือกครั้งสุดท้ายให้ได้นักเรียน จำนวน 4 คน เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันระหว่างประเทศตามที่เคยปฏิบัติมา”

“ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 16 นี้ มีนักเรียนที่เข้าร่วมในการแข่งขัน ทั้งสิ้น 100 คน โดยเป็นนักเรียนตัวแทนศูนย์ที่ผ่านค่ายที่สองจากศูนย์ สอวน ทั่วประเทศทั้ง 13 ศูนย์ จำนวน 90คน และนักเรียกจากโครงการสสวท. จำนวน 10 คน อาจารย์ผู้แทนศูนย์และครูสังเกตการณ์จากศูนย์ สอวน. จำนวน 57 คน คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ และแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ รวมผู้เข้ากิจกรรมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน ซึ่งกิจกรรมหลักการในการแข่งขัน จัดขึ้นที่ อาคารวิทยวิภาส  สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยแบ่งออกเป็นกิจกรรมของคณาจารย์ และกิจกรรมของนักเรียน  กิจกรรมของคณาจารย์ ประกอบด้วย การพิจารณาข้อสอบ การพิจารณาผลสอบ การตัดสินผล และการให้รางวัล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีเยี่ยม ระดับดีมาก และระดับดี ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ปฏิบัติกันในการสอบแข่งขันระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทัศนศึกษา  ส่วนกิจกรรมของนักเรียนประกอบด้วย การสอบ 2 วัน วันละ 3 ชั่วโมง การทำกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมทัศนศึกษา” ผศ.ดร.สมเกียรติ  ศรีจารนัย  กล่าวในที่สุด

มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) มอบหมายให้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพจัดการ “การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 (The Sixteenth Thailand Olympiad in Informatics 2020)” ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2563 ณ อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 16  เพื่อยกระดับและกระตุ้นให้มีให้มีการพัฒนาหลักสูตร และมาตรฐานของระบบการเรียนการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของประเทศ ให้ทัดเทียบนานาประเทศ  ทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเกิดความรักและสนใจที่จะมุ่งเน้นศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องในระดับอุดมศึกษา จนอาจประกอบอาชีพทางคอมพิวเตอร์ในอนาคต   พร้อมกับคัดเลือกนักเรียนที่เข้าอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวแทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในรอบต่อไป  ทั้งเป็นโอกาสให้คณาจารย์จากศูนย์ สอวน. ทุกศูนย์มีประสบการณ์ร่วมกันในการเข้าร่วมจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมทางวิชาการในสาขาคอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น  สร้างโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดของนักเรียน ตัวแทนครูจากโรงเรียน และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ

Scroll to Top