ร้านกาแฟ หรือ ออฟฟิศ ???? เปิดบ้านคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่ทำงานแห่งความสุขของทุกคนในองค์กร

คน นับเป็นหัวใจหลักขององค์กร หากการทำงานในองค์กรเป็นพื้นที่แห่งความสุข ผลลัพธ์จากการทำงานย่อมสะท้อนมาที่ภาพรวมขององค์กรที่มีความสามารถ พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง มีทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ขณะเดียวกันการสร้างความสุขในองค์กร  กลับไม่ได้มีสูตรตายตัว เพราะแต่ละองค์กรย่อมต้องสร้างลูกกุญแจในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้ความสำคัญกับ “คน” และ “พื้นที่แห่งการทำงานอย่างเป็นสุข” มาโดยตลอด เฉกเช่นปัจจุปันที่มีการผลักดันนโยบาย Ecological การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าทำงาน Best place to work ของบุคลากรทุกกลุ่ม จากหลักการนี้เองนำมาสู่การสร้างลูกกุญแจในแบบฉบับของ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เริ่มต้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมต่อการแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างพื้นที่การทำงานในคณะให้เป็นความสุขของทุกคน

ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวเรือใหญ่เปิดเผยว่า ก่อนจะออกแบบลูกกุญแจไขสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข ต้องเริ่มต้นจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นอันดับแรก และวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ของ “คนที่นี่”  คือการเข้าใจปัญหา ยอมรับ พร้อมต่อการแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา 

“สิ่งที่เศรษฐศาสตร์ที่คิดว่าดี ควรทำ และ อยากชวนคนอื่นทำด้วย คือ การพูดถึงปัญหากันตรง ๆ และช่วยกันแก้ไข เช่น เมื่อเรามีปัญหาเรื่องต่าง ๆ ที่เราไม่เข้าใจ เราก็ควรมาเล่าให้กันฟังว่า เมื่อปัญหาเป็นแบบนี้ วิธีแก้ต้องทำยังไง ฉะนั้นเราจะพยายามมองถึงปัญหาแล้วช่วยกันแก้ นี่คือลักษณะของคณะทำงานคณะเศรษฐศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านการเรียนการสอนของคณะ ที่ปัจจุบันนี้ไม่มีหลักสูตรภาษาไทย แต่มีหลักสูตร Bilingual และ หลักสูตรภาษาอังกฤษ เพราะอยากแก้ไขปัญหานักศึกษาไม่เก่งภาษาอังกฤษและสู้เด็กกรุงเทพไม่ได้ ซึ่งเราต้องเปลี่ยน ต้องแก้ไขให้ได้  วิธีคิดในลักษณะนี้จึงเป็นเหมือนธรรมชาติของคนในเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ เมื่อเราเจอปัญหาเราจะต้องแก้ไข ต้องคุยกันแบบดึงทุกอย่างออกมา แม้ว่ามันจะเจ็บปวด แต่เพื่อไม่ให้เป็นแผลเรื้อรัง”

จากแนวคิดหลักของหัวเรือใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการมองปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เห็นแนวทางการสร้างความสุขในองค์กรชัดเจนขึ้น   ซึ่งความสุขแรกที่ ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ต้องการให้คนในองค์กรมี คือ ความสุขในการทำงานที่ปลดล็อคจากปัญหาสุขภาพอย่างออฟฟิศซินโดรม

“ส่วนตัวเป็นออฟฟิศซินโดรมแล้วทรมานมาก เกิดจากการที่นั่งทำงานทั้งวันไม่ยอมลุก ทำให้สุขภาพไม่ค่อยดี อาจจะส่งผลทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อม  ต่อมาก็เริ่มเห็นอาจารย์ที่ทำงานหนัก เริ่มเป็นแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นทางคณะเศรษฐศาสตร์จึงซื้อโต๊ะแบบยืนเพื่อให้อาจารย์ และ ให้เจ้าหน้าที่ ได้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพระยะยาว นอกจากนี้ตอนออกแบบออฟฟิศเราได้ให้คอนเซ็ปต์ว่าจะไม่มีพื้นที่ส่วนบุคคล เพราะไม่อยากให้นั่ง และยังลดความเป็นเจ้าของลง นั่งตรงไหนก็ได้ขอแค่ส่งงานก็พอ ไม่ว่าจะเป็นในต่างประเทศหรือองค์กรชั้นนำก็จะทำแบบนี้  เพื่อให้คนทำงานรู้สึกถึงการทำลายขอบเขตของตนเองและสร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิด Creative idea เพิ่มขึ้น”

ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า “ตอนแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่หลายคนก็ตกใจ เพราะทุกคนมาจากออฟฟิศที่มีที่นั่งเป็นของตัวเอง มีการจองโต๊ะหมด เอาอุปกรณ์มานั่งทำงาน มีการพยายามไปหาโต๊ะมา เพราะบางฝ่ายก็มีความจำเป็นที่ต้องมีโต๊ะ เช่น โต๊ะการเงิน โต๊ะสารบรรณ เพราะต้องมีเอกสารเยอะ มีการไปอาศัยโต๊ะเพื่อน แต่ตอนหลังก็ชิน มีการปรับตัว ย้ายไปตามที่ต่าง ๆ จนรู้สึกว่ามันย้ายได้ และ สิ่งที่ยอมให้เขาทำ ก็คือ หลัง ไหล่ ที่ปวดเริ่มคลาย  เพราะการยืนทำให้เลือดไหลเวียนดี คราวนี้ก็ไม่มีใครยอมนั่ง เพราะรู้ว่าอาการปวดจะกลับมา ตอนหลังมีการบ่นว่าการยืนมันปวดขา เราจึงแก้ปัญหาให้ใส่ผ้าใบ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นคนของเศรษฐศาสตร์แต่งตัวคล้ายกับกลุ่มคนทำงาน Start-Up เพราะต้องยืนทำงาน นั่นเอง”

หลักจากปัญหาสุขภาพจากออฟฟิศซินโดรมถูกแก้ไข  การออกแบบพื้นที่ สร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกัน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นสถานีต่อไปของการสร้างความสุข แบบฉบับคนทำงานของที่นี่ ในการปลดล็อคความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างทำงาน ซึ่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า “การตกแต่งออฟฟิศ ตอนแรกมีโหวตสองแบบ คือ แบบคลาสสิค และ แบบลอฟท์ อาจารย์รุ่นใหม่ชอบแบบลอฟท์มากกว่า จึงทำให้แบบคลาสสิคแพ้ไป วิธีคิดต่อมาเราอยากให้เกิดการทำงานร่วมกัน ทั้งอาจารย์กับนักศึกษาและอาจารย์ด้วยกันเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ให้ทุนเชิงบูรณาการในส่วนนี้ด้วย”

“ในการทำงานร่วมกันได้ คนจะต้องชอบกันก่อน เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องจัดให้พื้นที่เป็นไม่เป็นทางการ เป็นลักษณะปาร์ตี้เพื่อให้คนมาทำงานร่วมกัน มีทั้งให้เล่นและผ่อนคลายอยู่ตลอดเวลา ความคิดที่เป็นเชิง Creative จึงจะเกิด ที่สำคัญความเป็นสไตล์ลอฟท์ ได้ผลเกินคาด เพราะทำให้นักศึกษารู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่คณะแต่เป็นเหมือนบ้าน สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เพราะฉะนั้นออฟฟิศของคณะเศรษฐศาสตร์ก็จะเห็นนักศึกษาอยู่รอบ ๆ เรา และการที่เขาอยู่ใกล้เรา ก็เป็นตัวกระตุ้นให้นักศึกษาและอาจารย์ทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น”

“พื้นที่ห้องส่วนกลางลักษณะเป็นร้านกาแฟ เปิดเพลงแนวร้านกาแฟ มีเคาน์เตอร์ที่สามารถกินกาแฟได้ตลอดเวลา และเราจะเห็นว่าเขาไม่ได้ไปไหนเพราะเขาก็มาอยู่กับเรา อาจารย์และนักศึกษาจะเข้ามาร่วมพูดคุยกันในห้องนี้ เด็ก ๆ ก็มาใช้คุยงานกลุ่ม  ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ปิด สามารถที่จะเข้ามาใช้บริการได้ พื้นที่ตรงนี้ทำให้เราได้รู้ว่าเด็ก ๆ คิดอย่างไร ต้องการอะไร บางทีได้รู้ว่าเขาพบกับปัญหาอะไร และปัญหานั้นเราสามารถช่วยเขาได้หรือไม่”

เห็นได้ว่าการออกแบบพื้นที่ที่ลดความเป็นส่วนตัวเป็นการความสร้างความคุ้นเคย กระชับความสัมพันธ์ซึ่งกันละกันให้แต่ละกลุ่มทางอ้อม ซึ่งนอกจากพื้นที่จะมีหลักการของการรวมทุกคนในองค์กรเข้าหากันแล้ว วิธีการจัดการในองค์กรยังให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยการดึงนักศึกษาภายในคณะ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเหมือนหนึ่งพนักงานอีกคน เพื่อที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ระบบการทำงานจริง  

“จุดเด่นของออฟฟิศนี้นอกจากจะมีโต๊ะยืนแล้ว  พี่ ๆบุคลากรเจ้าหน้าที่ในคณะเศรษฐศาสตร์ก็จะเป็นหัวหน้าน้อง ๆ ในการทำงานในออฟฟิศ เพราะมีการให้ทุนในการทำงานด้วย โดยเป็นการทำงานร่วมกับอาจารย์ปีละ 200 ทุน เทอมละ 12,000 บาท เราใช้งบประมาณ 4 ล้านบาทในส่วนนี้  ออฟฟิศเศรษฐศาสตร์จะดำเนินการโดยเด็กเศรษฐศาสตร์เอง แม้แต่สำนักงานต่าง ๆ ก็ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ โดยให้น้อง ๆ เข้ามาช่วย และพี่ก็เหมือนกับเป็น Conductor แม้ว่าในตอนแรกพี่ๆอยากจะทำงานเองเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพได้ แต่ตอนหลังเราก็จะคุยว่า การดำเนินการในลักษณะนี้ถือเป็นการช่วยเหลือน้อง ข้อแรก คือ การช่วยเหลือโดยให้ทุน สอง คือ การฝึกให้น้องเข้าใจในระบบออฟฟิศเวลาน้องไปเรียน ก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้น และยังเป็นการฝึกทำงานร่วมกันให้พวกเขา ซึ่งเป็นหัวใจของการทำงานสมัยใหม่  โดยในการทำงานนั้นเราต้องมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความมั่ว  ที่สำคัญเราต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่าง และถ้าเรายอมรับความแตกต่างได้ โดยทำความเข้าใจร่วมกัน เราเองก็จะหาวิธีการทำงานด้วยกันได้ เวลาเราอยู่ข้าง ๆ ใคร ก็จะสามารถอยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจปัญหา แก้ไข แสวงหาแนวทางที่ดีขึ้นร่วมกันจะประสบผลสำเร็จ”ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

แม้ว่ากุญแจไขสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุขของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบท แต่เชื่อว่ากุญแจที่เป็นแนวคิดหลักของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เริ่มต้นจากการเข้าใจปัญหา ยอมรับ พร้อมต่อการแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาร่วมกัน   เป็นสิ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ในทุกองค์กร  นั่นก็เพราะการทำงานกับปัญหาเป็นของคู่กัน  ฉะนั้นแล้วเชื่อว่าเรื่องราวการสร้าง happy work place ของที่นี่จะเปิดประตูแรงบันดาลใจ การทำองค์กรให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข เพื่อให้ “คน” ที่เป็นหัวใจหลักขององค์กรมี “พลังงานดี” เต็มที่สามารถขับเคลื่อนพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่หวังไว้นั่นเอง

เรื่อง : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

 

Scroll to Top