มข.มองไกล ตั้งส่วนงานใหม่ยกระดับทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เน้นตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตในยุคThailand 4.0 

        การมองไปข้างหน้าเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การบริหารจัดการทั้งระบบของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในแบบ Trtansformation ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการก้าวสู่โลกยุคใหม่ที่ท้าทายและแข่งขัน
        แนวคิดในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ได้พูดถึงอยู่เสมอเพื่อให้รองรับนโยบายการพัฒนาของภาครัฐอีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่บัณฑิตเป็นที่ต้องการในตลาดงานขั้นสูงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวคิดในการปรับโครงสร้างและก่อตั้งหน่วยงานใหม่ที่เป็นอนาคตได้ถูกเปิดแนวคิดครั้งแรกในการประชุมสภามหาวิทยาลัยโดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ให้แนวทางต่อที่ประชุมที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหน่วยงานที่มีสามารถผลิตผลงานวิจัย ผลิตนักศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต และอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาตามคำสั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นแต่งตั้งกรรมการกำหนดแนวทางการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ที่ 3051/2564 ลงวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยมอบหมายให้ ศ.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการและมี คุณ คุรุจิต นาครทรรพ  รศ.ธนชาติ นุ่มนนท์  กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นกรรมการ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อเสนอ “แพลตฟอร์มการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์” และ “แผนพัฒนาความเป็นเลิศการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์”ซึ่งคณะกรรมการได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาด้วยการจัดประชุมพิจารณาตั้งแต่เดือนเมษายน – สิงหาคม2564 รวม 4 ครั้ง จนได้รูปแบบเพื่อนำเสนอและผ่านมติการพิจาณาของกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯในการประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 นำมาซึ่งประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 1793/2564 เรื่องการจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นตามลำดับ

การประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ได้ผ่านร่างแผนการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์

             วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ (College of Computing) เป็นส่วนงานใหม่เทียบเท่าคณะวิชาเพื่อการบริหารจัดการตามพันธกิจอย่างมีประสิทธิภาพโดยจะเป็นองค์กรที่สามารถผลิตผลงานวิจัย ผลิตนักศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและทิศทางการพัฒนาของประเทศ นอกจากนั้นยังมีความคาดหวังให้หน่วยงานใหม่นี้เป็นองค์กรที่มีอัตลักษณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
             ศ.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ ประธานกรรมการกำหนดแนวทางการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้เสนอแนวคิดในแผนการศึกษาไว้ว่า “วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์จะเป็นส่วนงานใหม่ที่มีความเฉพาะด้านในด้านการ Computing ขั้นสูง โดยเป็นส่วนงานใหม่ที่มีหลักสูตรที่สามารถผลิตบัณฑิตด้าน Computing หลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสาหรับบุคคลทุกช่วงวัย และสามารถเป็นส่วนงานที่ผลิตผลงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและ Advanced Computing และรวมถึงเป็นแหล่งการให้บริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงระดับสากล การขยายความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงการขยายขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลออกสู่สังคมและเศรษฐกิจ การส่งเสริมในด้านการเป็นผู้ประกอบการด้านดิจิทัล นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ในระดับแนวหน้าของประเทศและเอเชีย
           ศ.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์  ได้นำเสนอเป้าหมายว่า “วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์จะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมส่วนงานอื่นๆในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านการคำนวณและปัญญาประดิษฐ์ อันจะก่อให้เกิดหลักสูตรร่วมระหว่างส่วนงานรวมทั้งร่วมมือในการวิจัยในลักษณะของสาขาวิชาที่หลากหลายและก้าวข้ามสาขาวิชา และที่สำคัญเราจะมีความเข้มแข็งในศาสตร์ด้านการคำนวณและปัญญาประดิษฐ์เป็นอันดับ 1 ใน 2 ของประเทศและ 1 ใน 200 ของเอเชียภายใน 5 ปี”
          สำหรับการแบ่งส่วนงานการบริหารและการจัดการศึกษาได้กำหนดให้มีโครงสร้างสำคัญคือ 1) กองบริหารงานวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ 2) หน่วยงานตามภารกิจเฉพาะหรือยุทธศาสตร์ อาทิ ศูนย์ภูมิสารสนเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล ส่วนในการการบริหารวิชาการ ประกอบด้วย 2 สาขา คือ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (CS & IT – Computer Science & Information Technology) และ สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ (GIS – Geographic Information System) ส่วนในเรื่องของหลักสูตรการสอนซึ่งยังมีหลักสูตรระดับทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาโดยคงหลักสูตรเดิมพร้อมทั้งการเปิดหลักสูตรใหม่ โดยเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) เช่น  หลักสูตรด้าน Data Science & AI (โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่) หลักสูตรด้าน Data Engineering and Data Science , Computer Programming ,Photogrammetry and Aerial Survey , Internet GIS for Spatial Data Analytics , IoT and Smart Farming ในปีการศึกษานี้ และจะเปิดสอนในปีการศึกษา 2565 อีกในหลักสูตรด้าน Business Intelligence (BI) / Smart Process , Mobile / Web Applications , AI & Machine Learning ,Internet of Things (IoT) / Wireless / Security และหลักสูตรด้าน Geo-Informatics
        นอกจากนั้นแล้ววิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ยังจะมีการเปิดหลักสูตรสหวิทยาการหรือสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary)หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต ด้าน Digital Entrepreneurship โดยความร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ด้าน Digital Governance โดยความร่วมมือกับวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ด้าน Smart Cities โดยความร่วมมือกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
        วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างมีความคาดหวังเพื่อให้หน่วยงานแห่งใหม่จะเข้ามาพลิกโฉมการดำเนินงานรองรับพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยการผลิตผลงานวิจัย ผลิตนักศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จึงได้ให้แนวทางและข้อคิดในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดในหลายประเด็น ทั้งเรื่องของแนวคิดการก่อตั้งเพื่อให้เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีศักยภาพและทิศทางชัดเจนในการดำเนินการไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด มีการบริหารจัดการรายได้ที่สามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้ อีกทั้งต้องสร้างความเข้มแข็งและสร้างการรับรู้ให้แก่นักศึกษาและสังคมภายนอก เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็น Computing/Technology Class อย่างแท้จริง เป็นที่ต้องการของผู้เรียนและเป็นความต้องการของตลาดงาน ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมหาวิทยาลัยอย่างมาก
        มาถึงวันนี้วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่สุดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ผ่านการกลั่นกรองความคิดจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและได้ถูกประกาศผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นและการนำเสนอต่อกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเหลือเพียงขั้นตอนประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

อุดมชัย สุพรรณวงศ์ / เรียบเรียง
ขอบคุณ สำนักงานสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

 

 

Scroll to Top