อพ.สธ. – มข. จัดการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หลักสูตรการบริหารและการจัดการ องค์ประกอบที่ 1 และองค์ประกอบที่ 2

เมื่อวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ครั้งที่ 2/2565 หลักสูตรการบริหารและการจัดการ องค์ประกอบที่ 1 และองค์ประกอบที่ 2  ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting และรูปแบบ Onsite ณ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ชั้น 7 อาคารศูนย์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้กับผู้เข้าร่วมอบรม ที่เป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน 70 คน

โดยมี ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการอบรม ดังนี้

มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นระยะเวลากว่า 24 ปี โดยมีนักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นคณะปฏิบัติงานวิทยาการ ดำเนินงานสำรวจ ศึกษาวิจัย ค้นคว้า ทรัพยากรกายภาพชีวภาพ  รวมทั้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในพื้นที่ปกปักทรัพยากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังสนองพระราชดำริ ในภารกิจที่สำคัญ คือ การเป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ 5 มหาวิทยาลัย จาก 70 มหาวิทยาลัยที่สนองพระราชดำริ เป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการ อพ.สธ. และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัย ที่รับผิดชอบพื้นที่ประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด ซึ่งเป็นการดำเนินงานสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร ประสานงานสนองพระราชดำริหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน โดยการสมัครสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจ การจัดฝึกอบรมบุคลากรหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ตามหลักสูตร อพ.สธ. และหลักสูตรสนับสนุนงานสนองพระราชดำริ ให้มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในแต่ละภูมิภาค

วันแรกของการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ครั้งที่ 2/2565 หลักสูตรการบริหารและการจัดการ องค์ประกอบที่ 1 และองค์ประกอบที่ 2  ประกอบไปด้วยการบรรยายโดยมีหัวข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อการบรรยาย “แนวทางการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)” โดย นายธานินทร์ สันคะนุช เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 5 (อพ.สธ.)

หัวข้อการบรรยาย “องค์ประกอบที่ 1 การจัดป้ายชื่อพรรณไม้  มีเนื้อหาประกอบไปด้วย การกำหนดพื้นที่ศึกษา, การสำรวจพรรณไม้ในพื้นที่ศึกษา, การทำและติดป้ายรหัสประจำต้น, การตั้งชื่อ ปรือสอบถามชื่อและศึกษาข้อมูลพื้นบ้าน, การทำผังและแสดงตำแหน่งพรรณไม้, การศึกษาและบันทึกลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (ก.7-003), การบันทึกภาพหรือวาดภาพทางภูมิศาสตร์, การทำตัวอย่างพรรณไม้, การเปรียบเทียบข้อมูลที่สรุปและข้อมูลที่สืบค้นจากเอกสาร, การจัดระบบข้อมูลทะเบียนพรรณไม้ (ก.7-005), การทำร่างป้ายชื่อพรรณไม้ และการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์”  โดย นายทองอินทร์ คำมี นักวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หัวข้อการบรรยาย “องค์ประกอบที่ 2 การรวบรวมพรรณไม้เข้าปลูกในโรงเรียน มีเนื้อหาประกอบไปด้วย การศึกษาข้อมูลจากผังพรรณไม้เดิมและศึกษาธรรมชาติของพรรณไม้, การสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์สภาพพื้นที่, กาพิจารณาคุณ และสุนทรียภาพของพรรณไม้, กำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่, กำหนดชนิดพรรณไม้ที่จะปลูก, ทำผังภูมิทัศน์, การจัดหาพรรณไม้และวัสดุปลูก, การปลูกและดูแลรักษา และการศึกษาคุณของพืชพรรณที่ปลูก ออกแบบบันทึกการเปลี่ยนแปลง”  โดย ดร.หิรัญ แสวงแก้ว นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นางสาวสาวิตรี ศรีมงคล ศูนย์แม่ข่ายประสานงานฯ อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนางสาววริษฏา หงส์กาญจนกุล ศูนย์แม่ข่ายประสานงานฯ อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากนั้น เป็นการฝึกปฏิบัติการ องค์ประกอบที่ 1 การจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้ ในหัวข้อ การทำผังและแสดงตำแหน่งพรรณไม้, การศึกษาและบันทึกลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (ก.7-003), การทำตัวอย่างพรรณไม้แห้ง และสรุป ก.7-003 และทำร่างป้ายชื่อพรรณไม้ โดย นายทองอินทร์ คำมี นักวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การฝึกปฏิบัติการ องค์ประกอบที่ 2 การรวบรวมพรรณไม้เข้าปลูกในโรงเรียน ในหัวข้อ สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์สภาพพื้นที่, กำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และทำผังภูมิทัศน์ โดย ดร.หิรัญ แสวงแก้ว นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

และบรรยายสรุป  องค์ประกอบที่ 1 การจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้ และองค์ประกอบที่ 2 การรวบรวมพรรณไม้เข้าปลูกในโรงเรียน โดย นายธานินทร์ สันคะนุช เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 5 (อพ.สธ.)

วันที่สองของการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ประกอบไปด้วย

การบรรยายและนำเสนอผลการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 1 การจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้ โดย นายทองอินทร์ คำมี นักวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การบรรยายและนำเสนอผลการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 2  การรวบรวมพรรณไม้เข้าปลูกในโรงเรียน โดย ดร.หิรัญ แสวงแก้ว นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

และบรรยายสรุปผลการเรียนรู้ โดย นายธานินทร์ สันคะนุช เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 5 (อพ.สธ.)

ทั้งนี้ คณะวิทยากร ได้ให้คำแนะนำหลังจากการนำเสนอผลการเรียนรู้ เช่น

– การรู้ความหมายของคำว่า ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนา และสามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน

– ความหมายและการอธิบายลักษณะพิเศษของส่วนต่าง ๆ ของพรรณไม้ เช่น ลักษณะใบ มียาง มีสี และกลิ่น

– การบันทึกผลการเรียนรู้ สามารถบันทึกได้ทั้ง 2 แบบ คือ บันทึกผลตามสิ่งที่เห็น (ใบแบบศึกษาพรรณไม้ หน้าที่ 2 – 7)  และบันทึกตามสิ่งที่สืบค้นได้ในการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม

– การเขียนชื่อพรรณไม้ ได้แก่ การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ (การใช้ตัวพิมพ์แบบเอียงหรือขีดเส้นใต้), การเขียนชื่อสามัญที่ถูกต้อง (การใช้อักษรภาษาอังกฤษ ตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็ก)

– การเขียนป้ายชื่อพรรณไม้สมบูรณ์ตามที่ อพ.สธ. กำหนด ประกอบด้วย รหัสพรรณไม้ ชื่อพื้นเมือง ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ ชื่อสามัญ และประโยชน์

– การบันทึกข้อมูลในองค์ประกอบที่ 2  ใบงานที่ 3 พิจารณาคุณ สุนทรียภาพของพรรณไม้ การเลือกพืชที่สนใจ คือ พืชที่จะนำเข้ามาปลูก และการเรียนรู้คุณค่าของพรรณไม้ เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ของพรรณไม้ที่มีคุณต่อปัจจัยทางกายภาพและมีคุณต่อปัจจัยทางชีวภาพแวดล้อมพรรณไม้

– กรณีที่ข้อมูลที่เคยกำหนดไว้มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ชื่อวิทยาศาสตร์ ทางโรงเรียนสามารถดำเนินงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องแก้ไขข้อมูลเดิมที่ได้ดำเนินการแล้ว  ซึ่งจะทำให้ทราบถึงการพัฒนาของข้อมูลหรือประวัติการทำงาน และการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่ผ่านมา

– การรักษามาตรฐานของโรงเรียนที่ผ่านการประเมินแล้วทำได้ทั้งการรักษางานเดิม และสามารถพัฒนางานเดิมหรือเพิ่มเติมงานได้

จากนั้นเป็นการกล่าวปิด และมอบเกียรติบัตร โดย ผศ.จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

Scroll to Top