มข. ร่วมกับ กพ. จัดโครงการ สปชต. ให้ ขรก.ชายแดนใต้ได้พัฒนาและสร้างเครือข่าย รุ่นที่ 4/2563

​          สำนักบริการวิชาการ มข. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จัดอบรมโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นที่ 4/2563 ระหว่างวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2563  ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น ทะเลบัวแดง จังหวัดอุดรธานี และ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีข้าราชการจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมอบรม จำนวน 100 คน

          รศ.ดร.เกรียงไกร  กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมและแขกผู้มีเกียรติ และ นายสมศักดิ์  เจตสุรกานต์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. เป็นประธานเปิดกรวยธูปเทียนแพร เพื่อถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงการณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น โดยมี พ.ต.อ.สมหวัง เนตรทิพยานนท์ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรม

           ผศ.ดร.สาธร  พรตระกูลพิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ฝ่ายวิชาการ กล่าวรายงานการจัดโครงการว่า “โครงการ สปชต. มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนาข้าราชการกลุ่มเป้าหมาย คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการตำรวจ ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมาย ให้สนับสนุนการดำเนินบทบาทการเป็นผู้นำ (Leadership Role) และบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ประเทศ 4.0  2) พัฒนาทักษะการคิด และทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในสภาวการณ์ไม่ปกติ รวมถึงการปฏิบัติงานในอนาคตโดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติและประชาชนมากกว่าประโยชน์ส่วนตน  3) สร้างพันธมิตรและส่งเสริมการทำงานที่สอดคล้อง เชื่อมโยง บูรณาการ (Creating Partnership and Relationship) และการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบ  (Creating Alignment and Accountability) โดยเน้นการทำงานที่เป็นจิตอาสา เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน 4) รับทราบแนวคิดของข้าราชการกลุ่มเป้าหมายในการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาประเทศ และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิตในพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน และ 5) เพื่อสร้างขวัญและให้กำลังใจแก่ข้าราชการกลุ่มเป้าหมาย โดยเสริมสร้างความรู้และฝึกการดูแลคุณภาพชีวิตของตนเองได้ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และความคิด เข้าใจถึงแนวทางการจัดการกับความเครียดจากการทำงาน ได้พักและผ่อนคลายจากสภาพการทำงานที่กดดันและสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายจากการทำงานในพื้นที่เป็นการชั่วคราว

​           การฝึกอบรมในครั้งนี้ประกอบด้วยภาคการบรรยาย ในหัวข้อการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การทำงานเป็นทีม และการทำงานในภาวะบีบคั้น กิจกรรมกลุ่มการศึกษาดูงาน การประยุกต์แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อัตลักษณ์ท้องถิ่น การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี  การศึกษาวิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมล้านช้าง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กิจกรรมการพัฒนาทัศนคติเชิงบวกและมีจิตสาธารณะ “อ้อมกอดชาวใต้ สู่ใจลูกอีสาน” ณ สถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง การตรวจสุขภาพร่างกายโดยคณะเทคนิคการแพทย์ และศึกษาสภาพเศรษฐกิจและสังคม ในอำเภอเมืองขอนแก่น เป็นต้น”

          รศ.ดร.เกรียงไกร  กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล กล่าวต้อนรับและได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการ ว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในภาคอีสานที่ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงาน ก.พ. ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดโครงการนี้ขึ้น รวมระยะเวลากว่า 13  ปี โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 85 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทราบถึงสถานการณ์ความไม่สงบที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายมหาศาล เป็นเหตุการณ์ที่บั่นทอนจิตใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ข้าราชการทุกท่านก็ยังยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เป็นแบบอย่างของความกล้าหาญที่น่ายกย่อง ชื่นชม และน่าภาคภูมิใจของเพื่อนข้าราชการทั่วประเทศ”

นายสมศักดิ์  เจตสุรกานต์ กล่าวเปิดการอบรมว่า “โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 รัฐบาลให้ความสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย ทุกท่านทุ่มเทไปปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ท่ามกลางความเครียด และเป็นตัวอย่างให้กับข้าราชการทั้งประเทศ ที่ทุกท่านทุ่มเทปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง อยากให้ทุกท่านได้พักและคลายสิ่งที่ทุกท่านประสบ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีโอกาสดูพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างสวยงาม เช่น วัฒนธรรมที่แตกต่างเป็นต้น นอกจากนี้เรายังได้รู้จักกันระหร่างกรม ระหว่างกระทรวง ซึ่งจะเป็นประโยขน์อย่างมากในการร่วมมือกันทำงาน มีเพื่อนและเดินไปด้วยกัน สิ่งสำคัญอยากให้เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจกันและเข้าถึงประชาชนมากขึ้น”

 

Scroll to Top