มนุษย์-สังคม มข. อุทิศตนเพื่อสังคม สร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโครงการบริการวิชาการมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์สู่ชุมชน

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้มหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินโครงการบริการวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งให้คณาจารย์และ นักวิจัย ได้นำความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอน การค้นคว้า และการวิจัย มาบูรณาการควบคู่กับการสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมในด้านต่างๆ ภายใต้ชื่อโครงการ “โครงการบริการวิชาการมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์สู่ชุมชน” ที่ได้มีการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ได้รับการบริการวิชาการ ได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ กลุ่มวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการบริการวิชาการมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์สู่ชุมชน เริ่มต้นด้วยโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ แรงงานย้ายถิ่นกลับ และชุมชนอีสาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ ระยะที่ 2” มุ่งเสริมสร้างศักยภาพครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ แรงงานย้ายถิ่นกลับ และชุมชนอีสาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บริการแรงงานและการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักชนก ชำนาญมาก อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.ณัฐวรรธ อุไรอำไพ นักวิจัยประเด็นการย้ายถิ่นกลับ นำทีมวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชุมชนใน 2 พื้นที่ ประกอบไปด้วย ตำบลบ้านแก้ง อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ และตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 18-19 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บริการแรงงานและการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ

กิจกรรมเริ่มต้นด้วย วันที่ 18 มกราคม 2567 คุณวิไลวรรณ มานะศิลป์ นายกเทศมนตรีตำบลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวต้อนรับ จากนั้นเป็นการรับฟังบรรยายพิเศษ และทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากทีมวิทยากร ณ หอประชุมตะโกดัด ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 60 คน จาก 17 ชุมชนในตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

จากนั้นวันที่ 19 มกราคม 2567 เดินทางไปยัง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อบรรยายให้ความรู้ พร้อมทั้งทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณนันทิดา ภูมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวต้อนรับ ท่ามกลางครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นเข้าร่วมในโคงการกว่า 60 คน จาก 13 หมู่บ้านในตำบลบ้านแก้ง อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ โดยในการจัดโครงการครั้งนี้มุ่งหวังให้ครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นได้รับความรู้เกี่ยวกับการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่แรงงานย้ายถิ่นกลับได้มีอาชีพรองรับหลังย้ายถิ่นกลับในการเป็นผู้ประกอบการเกษตร อีกทั้งยังมีการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพตนเองของครัวเรือนและแรงงานย้ายถิ่นกลับจากต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถเผยแพร่ต่อคนในชุมชนต่อไปได้

โครงการ “การพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์” เป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้การดำเนินงานโครงการบริการวิชาการมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์สู่ชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 และ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดารารัตน์ คำภูแสน หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะกรรมการดำเนินโครงการ และนักศึกษา ร่วมดำเนินกิจกรรม ณ หอประชุมโรงเรียนจินดาสินธวานนท์ อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนักเรียน ครูผู้สอน ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และกลุ่มเกษตรกร เข้าร่วมโครงการกว่า 80 คน ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และกิจกรรมฝึกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษเบื้องต้น รวมทั้งรับฟังบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวนั้นมุ่งส่งเสริมและพัฒนาทักษะการสื่อสารด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ และยังมุ่งพัฒนารูปแบบการเสริมศักยภาพการสื่อสารภาษาอังกฤษของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดารารัตน์ คำภูแสน หัวหน้าโครงการ (มอบเกียรติบัตร)

โครงการบริการวิชาการมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์สู่ชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นองค์กรที่อุทิศตนเพื่อสังคม ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนหรือหน่วยงานที่ได้รับการบริการวิชาการ อีกทั้งยังมีการบูรณาการกับการเรียนการสอนและการวิจัย อันจะทำให้เกิดประเด็นการวิจัยใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นที่ชุมชนได้อย่างหลากหลาย และสามารถพัฒนาคน ชุมชน และสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

ขอบคุณภาพจาก : กลุ่มวิจัยและบริการวิชาการ

 

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top