มัธยม สาธิต มข. สุดอัจฉริยะ สร้างหุ่นยนต์ลอจิสติก คว้าแชมป์ระดับชาติ สู่เวทีระดับโลกที่ญี่ปุ่น

ทีม DINONAUT ประกอบด้วย นายศิวัชณัฐ แสงสุวรรณ (ศีล) และนายวชิรวิชญ์ อารยะสัจพงษ์ (ฝู) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  และนางสาวฟ้าใส จัสมิน เฟื่องจันทร์ (ฟ้าใส) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ได้เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระบบปฎิบัติการ  Thailand Open Robotics Competition 2024 สุดยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งจัดโดย Imagineering Education IMAKE Innovation สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ณ ณ ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ชั้น G กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 30 – วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา

การแข่งขันในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อหาตัวแทนประเทศไทยสู่เวที World RoboCup ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Japan Open ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยแบ่งออกเป็น 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น Logistics รุ่น @Home Education และรุ่น Junior Rescue  โดยทีม DINONAUT ได้ฟันฝ่าคู่แข่งทั่วประเทศและกลายเป็น 1 ใน 8 ทีม เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ รุ่น Logistics League ก่อนจะคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ โดยเป็นทีมเดียวที่สามารถทำคะแนนได้เต็ม 90 คะแนน และจะได้ร่วมทีมกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นตัวแทนของไทยในการแข่งขัน World RoboCup Industrial Logistics League ที่ประเทศญี่ปุ่น

(จากซ้าย) นายวชิรวิชญ์ อารยะสัจพงษ์ (ฝู) นายศิวัชณัฐ แสงสุวรรณ (ศีล) และ นางสาวฟ้าใส จัสมิน เฟื่องจันทร์ (ฟ้าใส)

กว่าจะเดินทางมาถึงอีกก้าวความสำเร็จเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีม DINONAUT เล่าว่า หลังจากสมัครเข้าร่วมทางออนไลน์  ก็ได้ทำแบบเสนอโครงการ (proposal) ส่งผลงานจากทั่วประเทศ และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการเป็น 8 ทีมสุดท้ายที่ได้เข้าร่วมอบรมที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 2 วัน ก่อนจะได้รับหุ่นยนต์พื้นฐาน 1 ตัว กลับมาที่บ้านเพื่อพัฒนาและเขียนโค้ดสำหรับทำภารกิจต่าง ๆ เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์

            “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเราชนะในครั้งนี้ คิดว่าเป็นเพราะพวกเราฝึกฝนอย่างเข้มข้นจนเกิดเป็นทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คำนวณและเขียนโค้ดได้อย่างแม่นยำ ทำให้หุ่นยนต์ต้นแบบ LOGISTIC ซึ่งมีซอฟต์แวร์ ROS (ROBOT OPERATING SYSTEM – V1 – NOETIC) ควบคุมให้หุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติ และเดินสำรวจตามแผนที่ และทำภารกิจเคลื่อนย้ายวัตถุจากจุดหนึ่งไปอีกจุดตามลำดับได้สมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในครั้งนี้นอกจากความดีใจแล้ว ยังเป็นประสบการณ์ที่ช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจให้ทุกคนในการเรียนและพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์และการเขียนโค้ดมากยิ่งขึ้น และจะเป็นผลงาน (Portfolio) สำหรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้ได้เดินทางไปตามความฝันกับสิ่งที่ชอบและสนุกสนานต่อไปในอนาคต

นายวัชเรนทร์  เเสงสุวรรณ

ด้าน นายวัชเรนทร์ เเสงสุวรรณ ผู้ปกครองนายศิวัชณัฐ แสงสุวรรณ (ศีล) หนึ่งในสมาชิกทีม DINONAUT และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ กล่าวว่า ทางสมาคมผู้ปกครองสนับสนุนการเรียนรู้และทักษะนอกห้องเรียนร่วมกับทางโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) อยู่เสมอ เพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะแห่งอนาคต และเป็นการเรียนรู้ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยได้เข้ามาร่วมอบรมในชุมนุมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ SATIT KKU ROBOT & AI CLUB ร่วมกับ ผศ.ดร.วิชชา เฟื่องจันทร์ และอาจารย์สมโชค แก้วอุทัศน์  คุณครูที่ปรึกษาชุมนุม พร้อมมองหาพื้นที่แห่งโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ไปเรียนรู้ และท้าทายสิ่งใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในสนามจริง

            “เด็ก ๆ มารวมตัวกันด้วยความชื่นชอบส่วนตัวของเขา เราในฐานะผู้ปกครองก็ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันให้กำลังใจเด็ก ๆ พร้อมสนับสนุนทุกด้าน ตั้งแต่การให้ข้อมูล ความรู้ ให้พื้นที่ฝึกซ้อม ช่วยเหลือทุก ๆ ด้านอย่างเต็มที่ระหว่างฝึกซ้อม ซึ่งสนามนี้เป็นสนามที่ท้าทายมากเพราะไม่เคยเปิดให้นักเรียนมัธยมศึกษาเข้าแข่งขันมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่ทุกคนจะได้ท้าทายภารกิจนี้ และด้วยความพยายามและตั้งใจจริงของทุกคน ทำให้คว้ารางวัลแห่งความสำเร็จมาได้

อ.สุเนตร  ศรีบุญเลิศ  รองผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์)

ทั้งนี้ .สุเนตร ศรีบุญเลิศ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์ระบุว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) สอดคล้องกับทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21  เพื่อผลิตนักเรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์เป็นนวัตกร และสนับสนุนชมรม ชุมนุมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ SATIT KKU ROBOT & AI CLUB เพื่อลดเวลาเรียนในห้อง เพิ่มเวลารู้ในสิ่งที่สนใจนอกห้องเรียน ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว นักเรียน และโรงเรียนเชื่อมสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการก่อตั้งชุมนุม ส่วนโรงเรียนจะสนับสนุนดูแลในส่วนของเวลาเรียนของเด็ก ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับการพัฒนาทักษะและความสนใจของพวกเขา และจะของบประมาณเพื่อสนับสนุนจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อผลักดันให้นักเรียนทั้ง 3 คน เดินทางไปแข่งขัน World RoboCup Industrial Logistics League ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป และนักเรียนทั้ง 3 คน ถือเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กคนอื่น  ทั้งในและนอกโรงเรียน ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสำคัญที่โรงเรียนได้นำมาพัฒนาหลักสูตรโดยเน้นความถนัดและสนใจของนักเรียน เพื่อมุ่งสู่การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

Smart KKU Secondary Demonstration students, building a logistics robot and winning a national level, ready to enter the world stage in Japan

https://www.kku.ac.th/17722

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปลื้มรับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ TQC ประจำปี 2566 จัดกิจกรรมแสดงความยินดีและบรรยายเส้นทางการบริหารสู่ความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคต

Scroll to Top