รู้จัก “แอมโมเนีย” สารเคมีใกล้ตัวหากรั่วไหลอันตรายแค่ไหน ไขคำตอบกับนักวิชาการ มข.พร้อมแนะวิธีรับมือ

ช่วงหน้าร้อนแบบนี้อุบัติเหตุต่าง ๆ รอบตัวก็มักจะเกิดขึ้นได้ง่าย อย่างกรณีโรงงานน้ำแข็งในชุมชนเกิดเหตุแอมโมเนียรั่ว หรือถังแอมโมเนียระเบิด ก็กลายเป็นข่าวที่มีรายงานเพิ่มมากขึ้น และนับเป็นภัยใกล้ตัว แต่สารเคมีนี้อันตรายมากแค่ไหน หากต้องเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวจะรับมืออย่างไร  หาคำตอบกับ ผศ.ดร.ชูศักดิ์ พูนสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แก๊สแอมโมเนีย NH3 เป็นสารเคมีไร้สี แต่มีกลิ่น น้ำหนักเบากว่าอากาศทำให้มักลอยขึ้นด้านบน และระเหยได้ง่าย กระจายตัวไว ละลายน้ำได้ดี

ผศ.ดร.ชูศักดิ์ ระบุว่า โดยทั่วไปแอมโมเนียมักถูกใช้ในระบบทำความเย็นในโรงงานน้ำแข็ง หรือด้านเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรท ตลอดจนใช้ในอุตสาหกรรมยางพาราเพื่อให้น้ำยางกระจายตัว และเมื่อเจือจางมาก ๆ ก็สามารถใช้ดมแก้วิงเวียนได้

ในกรณีการใช้แอมโมเนียเป็นสารหล่อเย็นในโรงงานน้ำแข็งนั้นจะมีกระบวนการเปลี่ยนแอมโมเนียจากสถานะของเหลวให้เป็นแก๊สผ่านกระบวนการดูดความร้อน และกดอัดแก๊สที่เกิดขึ้นกลับเป็นของเหลว หมุนเวียนภายในท่อของโรงงานอย่างต่อเนื่องด้วยตัวแอมโมเนียที่มีฤทธิ์เป็นสารกัดกร่อน หากท่อภายในโรงงานมีการใช้งานมานาน ก็มีโอกาสที่แอมโมเนียจะรั่วได้

อากาศร้อน หรือ ความร้อนก็นับเป็นหนึ่งในตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้แก๊สวิ่งเร็วขึ้น จนอาจกัดกร่อนหรือชนผนังท่อมากขึ้น นับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก๊สแอมโมเนียรั่วไหลได้

อย่างไรก็ตาม แอมโมเนียมีระดับความไวไฟอยู่ที่ระดับ 1 คือ จะจุดไฟติดเมื่อมีอุณหภูมิสูงกว่า 93 องศาเซลเซียสขึ้นไป ดังนั้น ในกรณีที่มีการระเบิดของถังแอมโมเนียอาจเกิดจากการมีประกายไฟก็จุดติดได้และหากแก๊สสะสมในปริมาณมากก็อาจจะระเบิดได้ในที่สุด

ผศ.ดร.ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากแก๊สแอมโมเนียรั่วในพื้นที่ปิด เมื่อชาวบ้านมีการสูดดมในปริมาณมากจะส่งผลให้ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อตา หรือ จมูกได้ และหากสูดดมในระยะเวลานานก็จะทำให้หายใจติดขัดจนสลบ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น เมื่อทราบว่ามีแอมโมเนียรั่ว ควรเร่งอพยพออกจากพื้นที่ทันที หากพบผู้หมดสติ ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำ CPR และเรียกรถพยาบาลทันที ในกรณีถูกแก๊สทำให้แสบตา แสบจมูก ควรเปิดน้ำล้างหน้าโดยให้น้ำไหลผ่านไป ไม่ควรนำมือไปถูหรือลูบบริเวณที่แสบ หรืออาจใช้น้ำเกลือช่วยในการชะล้าง ในส่วนของโรงงานเองในอนาคตที่อากาศมีแนวโน้มร้อนมากยิ่งขึ้นก็ควรหมั่นตรวจเช็กอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อไป

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ชูศักดิ์  ได้ทิ้งท้ายว่า วิชาเคมีเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และเกี่ยวโยงกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อยากให้ทุกคนลองเปิดใจและเข้ามาค้นหาคำตอบผ่านการทดลองมากขึ้น อยากให้คิดว่าวิชาต่างๆที่เรียนนั้นไม่ยาก เราสามารถเรียนรู้และทำได้ ก็จะยิ่งเรียนสนุกมากขึ้น ทั้งนี้ในวันที่ 17-19 สิงหาคมนี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนทั่วภาคอีสานได้มาเรียนรู้ว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร และแต่ละสาขาวิชา โดยเฉพาะเคมีมีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างไร เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

Scroll to Top