นักวิจัย มข.ทำสำเร็จ เสื้อเกราะกันกระสุนรังไหม

สำนักข่าว: ผู้จัดการออนไลน์
URL:https://mgronline.com/local/detail/9580000098634
วันที่เผยแพร่: 31 ส.ค. 2563

ผศ.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานเสื้อเกราะกันกระสุนจากรังไหม

ศูนย์ข่าวขอนแก่น – นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นประสบความสำเร็จ โชว์ผลงานเสื้อเกราะกันกระสุนจากรังไหมเป็นครั้งแรกของโลก เผยจุดเด่นน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นสูง ราคาถูกกว่าถึง 2.5 เท่า เบื้องต้นป้องกันกระสุน .22 ในระยะ 3 เมตรได้ เล็งพัฒนาเพิ่มให้สามารถกัน M16 ได้

วันนี้ (31 ส.ค. 58) ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมแถลงผลงานนักวิจัยพบสื่อมวลชนเรื่อง “เสื้อเกราะรังไหมกันกระสุน” ครั้งแรกของโลก โดย ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีสื่อมวลชน และนักวิชาการที่กี่ยวข้องร่วมในกิจกรรมจำนวนมาก

ผศ.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนวัตกรรมการพัฒนารังไหมใช้เป็นเกราะกันกระสุนได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ตำรวจ ทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐอื่นได้รับอันตรายจำนวนมาก ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมกับอาจารย์สุธา ลอยเดือนฉาย และกลุ่มหัตถกรรมผ้าของฝากภูเวียง จังหวัดของแก่น คิดค้นพัฒนารังไหมให้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุน

สาเหตุที่รังไหมสามารถใช้ทำเกราะกันกระสุนได้ เนื่องจากคุณสมบัติรังไหมมีความแข็งแรงสูงมากกว่า 4.8 จิกะปาสคาลขึ้นไป และเส้นไหมยืดหยุ่นได้ดีตั้งแต่ร้อยละ 35 และสามารถหดตัวกลับคืนได้ถึงร้อยละ 92 จากคุณสมบัติดังกล่าวพบว่าเส้นไหมมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเส้นใยเหล็ก ดังนั้นจึงนำรังไหมมาทำเป็นอุปกรณ์ป้องกันกระสุนปืนได้

จุดเด่นของเสื้อเกราะรังไหมกันกระสุน คือ มีความยืดหยุ่น ป้องกันการยิงซ้ำ ต้านทานแรงกระแทก น้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเกราะกันกระสุนทั่วไปถึง 2.5 เท่า วัตถุดิบรังไหมที่นำมาใช้ต้องใช้รังไหมที่ยังไม่ผ่านการสาวไหม หรือผ่านการสาวไหมแล้วแต่ต้องเหลือใยไหม ขั้นตอนการสร้างนำรังไหมมาวางในแม่พิมพ์ เทเรซินชนิดพิเศษลงบนรังไหมเพื่อให้รังไหมยึดเกราะกัน อัดด้วยเครื่องไฮดรอลิก บ่มเป็นเวลา 8 ชั่วโมง เสื้อเกราะไหมกันกระสุนมีความหนาประมาณ 14-20 มิลลิเมตร และน้ำหนักโดยรวมอยู่ที่ 2.5-4 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับชนิดกระสุนและความเร็วกระสุน

ผศ.พนมกรกล่าวว่า ทีมนักวิจัยได้นำเสื้อเกราะรังไหมมาทดสอบกับกระสุนจริง จากการทดสอบการยิงช่วงแรกพบว่าสามารถป้องกันการยิงของปืนสั้น .22 ได้ในระยะการยิง 3 เมตร เป็นการป้องกันในระดับ 1 ตามมาตรฐานของ National Institute of Justice (NIJ) นอกจากนี้เสื้อเกราะรังไหมกันกระสุนยังมีคุณสมบัติเด่น คือ มีความยืดหยุ่นตัวสูงสามารถดูดหัวกระสุนไว้ในเกราะไม่ทำให้เกิดการแฉลบสู่บุคคลข้างเคียง สามารถต้านทานแรงกระแทกได้ดี ไม่ทำให้เกราะแตกที่ทำให้ช้ำใน สามารถป้องกันการยิงซ้ำจากการคงรูปของเกราะ ไม่เสียสภาพภายหลังถูกยิง มีน้ำหนักเบา

ทั้งนี้ เมื่อพัฒนาต่อเนื่องในระยะเวลา 2 ปีโดยทำเกราะให้หนาขึ้น และมีเส้นใยพิเศษเสริมเข้าไป ทำให้สามารถต้านทานความเร็วกระสุนปืนสูงขึ้น ผลคือสามารถทำให้เกราะมีความสามารถป้องกันการยิงในระดับ 3A ตามมาตรฐาน NIJ (ขนาดหัวกระสุน 9 มม. ความเร็ว 426 เมตรต่อวินาที) ทั้งนี้ เสื้อเกราะไหมกันกระสุนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากการประกวดโครงการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ภาคอีสานตอนบน ที่จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ปัจจุบันทีมผู้วิจัยได้จดสิทธิบัตรเสื้อเกราะไหมกันกระสุนเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว โดยทีมผู้วิจัยกำลังพัฒนาความหนาและน้ำหนักของเสื้อเกราะไหมกันกระสุนให้บางและเบาขึ้น ให้สามารถป้องกันกระสุนปืนในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ (ป้องกันกระสุนปืน M16 ความเร็ว 838 เมตรต่อวินาที) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความปลอดภัยแก่สังคมต่อไป

Scroll to Top