อาจารย์คณะเทคโนโลยี มข. ร่วมสำรวจภาพเขียนสีโบราณ คาดอายุ 2,000-5,000 ปี

ตรวจสอบภาพเขียนสีโบราณ ภายในวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ในอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เบื้องต้นสันนิษฐานว่า มีอายุเก่าแก่ 2,000 – 5,000 ปี โดยขอนแก่น พบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ

นางพิมพ์กานต์ วงษ์ภูดร หัวหน้าวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ นำนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น , ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยนักศึกษา และประชาชน ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบภาพเขียนสีโบราณ 2 จุด บริเวณเกิ้งตะขาบ และเกิ้งขาม ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีรูปไม้กางเขน ตะขาบ วัวแดง ฝ่ามือ สัญลักษณ์คล้ายแผนที่ แจกัน รูปผู้ชายยื่นดอกไม้ให้ผู้หญิง จั่วบ้าน เป็นต้น โดยภาพที่พบ ไม่สามารถบอกได้ว่า ในยุคนั้น อยู่ในสังคมเกษตรกรรม หรือสังคมเริ่มแรกของการเร่ร่อน เพราะไม่มีภาพบ่งบอกชัดเจน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ กล่าวว่า พื้นที่นี้ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดหินโคกกรวด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มหินโคราช อายุราว 140 ล้านปี หรือเออรี่ครีเทเชียส ซึ่งลักษณะพิเศษคือ หินทรายปนกรวด สังเกตเห็นชั้นหินเฉียงระดับชัดเจน จากหลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่า เคยเป็นแม่น้ำโบราณมาก่อน แล้วถูกยกตัวขึ้นมา คาดว่า เป็นช่วงเดียวกันกับปรากฎการณ์ชนกันของอนุทวีปอินเดียและยูเรเซีย เกิดเป็นที่ราบสูงทิเบต เทือกเขาหิมาลัย โดยแรงชนส่งผลถึงภาคอีสานบ้านเรา ทำให้ชั้นหินเกิดการยกตัว เป็นรูปประทุนคว่ำ แล้วเกิดการแตกหัก ผุกร่อน เผยให้เห็นโครงสร้างภายในของชั้นหิน ทำให้เรารู้ว่า เกิดจากการสะสมของตะกอนและการพัดพาของแม่น้ำ โดยหมวดหินโคกกรวดนี้ มักเจอซากฟอสซิลไดโนเสาร์ฝังอยู่ด้วย

ขณะที่ นางกุลวดี สมัครไทย นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ระบุว่า ภาพเขียนสีแดงอาจมาจากแร่เฮมาไทด์ แต่อาจต้องพิจารณาสภาพภูมิประเทศ ข้อมูลทางธรณีวิทยาประกอบด้วย ซึ่งอาจมีลูกไม้ที่ให้สี ใช้ร่วมกับยางไม้ที่ให้ความเหนียว ปกติสีที่พบ จะมีขาว แดง เหลือง โดยสีแดงพบมากที่สุด จุดนี้ที่พบเป็นภาพธรรมชาติ จำลองรูปสัตว์ คน และมีภาพนามธรรมด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และอาจจะวัดค่าคาร์บอนจากรังปลวก เพื่อกำหนดอายุแม่นยำยิ่งขึ้น แต่โดยทั่วไปการกำหนดอายุทางโบราณคดี ใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบก่อน ในกลุ่มภาพเขียนสีด้วยกัน ข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีภาคอีสาน ได้กำหนดอายุประมาณ 2,000-5,000 ปี เบื้องต้นบริเวณโดยรอบ ยังไม่พบเครื่องมือหิน ที่เป็นร่องรอยการเข้ามาใช้พื้นที่ของมนุษย์ จึงน่าจะเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรม แต่จะให้แน่นอน ต้องมีการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติม

ส่วนข้อมูลเชิงบริบท ดินแดนแถบนี้อยู่ลุ่มแม่น้ำชี ซึ่งมีฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก ใกล้ที่สุด คือ แหล่งโบราณคดีเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ ซึ่งมีคนอาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องสมัยทวารวดี และล้านช้าง

ทั้งนี้ ขอนแก่นพบภาพเขียนสีโบราณ 28 แหล่ง มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากอุดรธานี 110 แหล่ง และอุบลราชธานี 48 แหล่งตามลำดับ โดยอุดรธานีพบมากในภูพระบาท แต่ขอนแก่นจะมีความหลากหลายในพื้นที่มากกว่า ทั้งภูเวียง ภูผาม่าน ภูเก้า-ภูพานคำ ถ้ำผาสูง ชุมแพ

นักโบราณคดี และนักธรณีวิทยา วิเคราะห์ร่วมกันว่า จุดที่พบภาพเขียนสีทั่วไป มักมีความสัมพันธ์กับที่ตั้งศาสนสถาน อยู่บนพื้นที่สูง ให้คนพื้นราบสังเกตเห็นได้ ทิศทางเชื่อมโยงกับฤดูกาลทำการเกษตร โดยจุดเลือกเขียนสี มีพื้นผิวเรียบ มีร่มเงา ป้องกันฝนได้ และมีพื้นที่สำหรับการวาด

สำหรับวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ มีลักษณะพื้นที่เป็นป่าดิบแล้งเชื่อมป่าเต็งรัง เนื้อที่ 6,240 ไร่ นอกจากภาพเขียนสีโบราณแล้ว ยังพบหินทรายน้อยใหญ่ รูปร่างแปลกตากระจายเต็มพื้นที่ ซึ่งหินทรายที่เป็นประติมากรรมธรรมชาติสร้างสรรค์นี่เอง ที่เป็นจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ โดยรูปทรงต่างๆของหินทราย เกิดจากการกัดเซาะโดยกระแสน้ำหรือกระแสลมเป็นเวลานาน ทำให้ตะกอนมีการเรียงตัวเอียงไปตามทิศทางของกระแสน้ำหรือกระแสลม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย อสมท. และ ศูนย์ข่าวภาคอีสาน ช่อง 9 MCOT HD

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top