มิติใหม่! มข.เปิดพื้นที่เชียร์สนุก-เสริมความรู้กับการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ พร้อมเป็นเจ้าภาพ “TBO21 & TChO20”

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าวในโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21 (TBO21) และ การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 (TChO20) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.)  โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผศ.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์, รศ.วัฒนา พัฒนากูล หัวหน้าสาขาวิชาชีววิทยา และ รศ.ชนกพร เผ่าศิริ หัวหน้าสาขาวิชาเคมี ร่วมแถลงความพร้อม โดยมี รองศาสตราจารย์ธีระพงษ์ พวงมะลิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องวิทยวิภาส 1 อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โครงการโอลิมปิกวิชาการ เป็นโครงการของมูลนิธิ สอวน. ที่มุ่งพัฒนาความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการยกระดับกระบวนการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของบุคลากรด้านการศึกษาเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล โดยคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิ สอวน. ให้เป็นศูนย์ สอวน. ระดับภูมิภาค ภายใต้ชื่อ ศูนย์ สอวน.มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา โดยรับผิดชอบดำเนินการรับสมัครและสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14 จังหวัด รวมทั้งจัดอบรมนักเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ เพื่อคัดเลือกนักเรียนเป็นตัวแทนศูนย์ฯ ไปแข่งขันในระดับชาติ ซึ่งแต่ละปีได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมียอดผู้สมัครมากกว่า 15,000 คน

ขณะที่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ในปี 2567 คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ 2 สาขา ได้แก่ การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2567 และการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2567 ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ร่วมฉลองในวาระครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย

 การแข่งขันในครั้งนี้เป็นงานสำคัญที่จะรวมอนาคตของชาติจากทั่วประเทศมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งปีนี้มีความพิเศษที่ผู้ชมทั้งผู้ปกครอง และนักเรียนที่ไม่ได้เข้าแข่งขันจะสามารถร่วมเชียร์เพื่อความสนุกสนาน และส่งเสริมความรู้ด้านชีววิทยาและเคมีไปพร้อม ๆ กันด้วย นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลักดันให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต และเป็นบรรยากาศแห่งการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ด้าน รศ.วัฒนา พัฒนากูล หัวหน้าสาขาวิชาชีววิทยา กล่าวถึงความพร้อมในการจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21 ว่า ขณะนี้มีความพร้อมมากกว่า 90% แล้ว ทั้งด้านบุคลากรที่ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานจากการแข่งขันปีก่อน ๆ รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นสมรภูมิประลองปัญญาที่ทันสมัย เพื่อรอต้อนรับตัวแทนนักเรียนจากทั่วประเทศให้ได้รับทั้งประสบการณ์และความทรงจำที่ประทับใจ และกลับมาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นในอนาคต โดยธีมงานในปีนี้ใช้ชื่อว่า “Connect” เพื่อสร้างความเชื่อมโยงให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับการแข่งขันในทุก ๆ ขั้นตอนมากที่สุด

ส่วน รศ.ชนกพร เผ่าศิริ หัวหน้าสาขาวิชาเคมี ระบุว่า การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 นี้จะเข้มข้นและน่าติดตามจากประสบการณ์การเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากปี 2552 โดยกรรมการวิชาการยังได้ดึงจุดแข็งด้านวิจัยและจุดเด่นของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการเปิดตัวอย่างข้อสอบออกมาให้ได้ลุ้นและตื่นเต้นไปพร้อมกัน

ไม่เพียงแต่การแข่งขันด้านวิชาการเท่านั้น แต่นักเรียนจากทั่วประเทศที่มาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังจะได้เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมสันทนาการและแหล่งเรียนรู้ทั้งในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและในจังหวัดขอนแก่นอีกด้วย นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ ยังได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์ของงาน พร้อมความหมายของการออกแบบ และรูปแบบเหรียญรางวัลในงานแถลงข่าวอีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ จะมีผู้เข้าแข่งขันเป็นนักเรียนผู้แทนศูนย์ สอวน. จากทั่วประเทศ ศูนย์ละ 6 คน และมีอาจารย์ผู้แทนศูนย์ฯ เป็นผู้ควบคุมทีมๆ ละ 3 คน มีการแข่งขันทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการ นักเรียนที่มีศักยภาพสูงจะได้ผ่านเข้าอบรมที่ สสวท. เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการแข่งขัน ผ่านทาง official page ของการแข่งขัน TBO21 และ TChO20 รวมทั้งช่องทางสื่อโซเชียลของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค
ภาพ : กลุ่มภาระงานสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มข.

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top