สำนักงานอธิการบดี มข. จัดโครงการปรับระบบบริหารจัดการสร้างความคล่องตัวในองค์กรพร้อมรับการทำงานในยุคดิจิทัล

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สำนักงานอธิการบดี จัดโครงการ “Transformation Management : Office of President การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสำนักงานอธิการบดี” ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมด้วย ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมบรรยายพิเศษ โดยมี นางเพียงเพ็ญ ภาคอุทัย ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการและหัวงานหน่วยงานสังกัดสำนักงานอธิการบดีเข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสำนักงานอธิการบดี เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการบริการจัดการ ทั้งนี้ต้องขอบคุณผู้จัดกิจกรรมและโครงการ โดยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมียุทธศาสตร์คือ KKU Transformation ซึ่งมีทั้งหมด 11 ยุทธศาสตร์ สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสำนักงานอธิการบดีจะมีอยู่ 3 ยุทธศาสตร์หลัก โดยที่กลไกสำคัญที่สุดในยุทธศาสตร์คือ Management Transformation ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ Enterprise Resource Planning (ERP) ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นหัวใจของ Management Transformation ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่ง Enterprise Resource Planning (ERP) เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และรูปแบบของ Enterprise Resource Planning (ERP) ที่กำลังดำเนินการอยู่ล้วนเป็นดิจิทัล โดยมี Digital Transformation เป็นเครื่องมือสำคัญ โดยมีฝ่ายบริหาร และฝ่ายดิจิทัล เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและประสานงานเพื่อผลักดัน Enterprise Resource Planning (ERP) ทั้งนี้ความสำเร็จที่สำคัญจะต้องเกิดขึ้นจากฝ่ายบริหารของสำนักงานอธิการบดี ได้แก่ ผู้อำนวยการ และหัวหน้างาน เนื่องจากส่วนประกอบของ Enterprise Resource Planning (ERP) ล้วนเกี่ยวข้องกับสำนักงานอธิการบดี อาทิ งานด้านงบประมาณ งานด้านพัสดุ งานด้านทรัพยากรบุคคล และ ด้านการเงิน เป็นต้น อีกทั้งเป็นตัวช่วยในการทำงานได้รวดเร็วขึ้น สะดวกขึ้น และแม่นยำขึ้น และข้อมูลจะมีความเชื่อมโยงกัน หากดำเนินการได้สำเร็จมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะก้าวขึ้นไปอีกขั้น จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีระบบการจัดการที่ดี และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จาก Enterprise Resource Planning (ERP) ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ พร้อมตอบโจทย์การทำงานโดยเฉพาะการลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำงานที่สำคัญได้อย่างถูกจุดและเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นำไปสู่การปฏิบัติงานที่สำเร็จ องค์กรประสบความสำเร็จ และมหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จ

ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การปรับรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร หรือ Management Transformation ต้องเชื่อมโยงไปกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ “ทรัพยากรบุคคล หรือ People” ซึ่งไม่ได้ถึงเฉพาะบุคลากร บัณฑิต ภายในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวแต่หมายถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลุ่มนี้ต้องความสุข มีสวัสดิภาพ มีสมรรถนะที่ดี พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นในการปรับตัวเข้าสู่ยุคของดิจิทัล พร้อมกับมีจิตบริการ มีเป้าหมายในการปฏิบัติงานให้สำเร็จ ตอบสนองความต้องการของประชาชน สังคม และประเทศชาติ ในส่วน “สภาพแวดล้อม หรือ Ecological” สิ่งแรกที่คำนึงสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือการเรียนต้องดี ทันยุคทันสมัย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย สวยงาม สะดวก ปลอดภัย ส่วนกฎระเบียบสามารถยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมของสถานการณ์ มีการปรับตลอดเวลา และในส่วนของ “จิตวิญญาณ หรือ Spiritual” เป็นส่วนสำคัญในการสร้างองค์กร โดยที่มีการสร้างจิตวิญญาณและทิศทางการทำงานร่วมกัน

รศ.ดร.ธารา ธรรมโรจน์ เพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 10 ปี มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการทำงานบนกระดาษ ปรับเปลี่ยนมาทำในบนคอมพิวเตอร์ และการทำงานบนสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligent (AI) จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในหลากหลายมิติ รวมถึงวงการการศึกษา และด้านการแพทย์ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ ทำงานได้รวดเร็ว เมื่อการเข้ามาของ AI จะทำให้โลกเปลี่ยนไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งพร้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานและการดำเนินงาน โดยการ การปรับรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร หรือ Management Transformation มีหลายส่วนที่สำคัญ อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ปรับแนวทางการประเมินโดยมุ่งเน้นความชัดเจนในงานที่ทำ สอดคล้องกับภารกิจหลักขององค์กร ที่สำคัญมีการปรับแต่งให้เกิดความเหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติที่สุด การรับรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร จะมีการทบทวนกฎระเบียบ ให้มีความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานโดยเน้นความราบรื่นในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ทั้งนี้การขับเคลื่อนในการการปรับรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร มี 2 ส่วน ได้แก่ ประการแรก การเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรบุคคลให้มีการทำงานได้รวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประการที่สอง เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกในการทำงาน ปรับเปลี่ยนการส่งเอกสารจากเดิมเป็นเอกสารกระดาษ เปลี่ยนเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำได้มากยิ่งขึ้น รวดเร็วขึ้น สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ที่สำคัญคือการทำงานเป็นทีม ผสานการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลดกำแพงในการทำงานที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นการปรับรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร สิ่งสำคัญคือต้องสอดคล้องกับระบบการทำงาน พัฒนาและปรับปรุงทรัพยากรบุคคล ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมองค์กรและสร้างจิตวิญญาณร่วมกันของคนในองค์กร

นางเพียงเพ็ญ ภาคอุทัย ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำนักงานอธิการบดีได้จัดโครงการระดมสมองในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร และกำหนดแผนบริหารยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2563-2566 ซึ่งในช่วง 3-4 ปี นับจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ผู้อำนวยการกอง และหัวหน้างานทุกท่านภายในสำนักงานอธิการบดี ล้วนมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อระดมความเห็นจากผู้อำนวยการ หัวหน้างาน ทั้งในเรื่องโครงสร้างองค์กร ภารกิจหน้าที่รวมทั้งสมรรถนะที่จะมีการพิจารณาปรับปรุงในยุคดิจิทัลต่อไป

สำหรับการจัดโครงการ “Transformation Management : Office of President การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสำนักงานอธิการบดี” จัดขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร และกำหนดแผนบริหารยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2563-2566 โดยมีการบรรยายพิเศษถ่ายทอดประเด็นยุทธศาสตร์ กลุยุทธ์การปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร โดย ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้อำนวยการและหัวงานหน่วยงานสังกัดสำนักงานอธิการบดี ในการวิเคราะห์ภารกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ หน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี ทั้งในด้านสนับสนุนการบริหารจัดการกลาง ได้แก่ งานแผน การประเมินผลและคุณภาพ การเงินและงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล กฎหมายและระเบียบสารบรรณ ด้านสนับสนุนการจัดการศึกษา นักศึกษา และการวิจัย ด้านการบริการ สวัสดิการ ด้านกายภาพ สาธารณูปการ ความปลอดภัย ด้านการต่างประเทศ รวมถึงแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติงานของสำนักงานอธิการบดีในยุคดิจิทัล และสมรรถนะ (Competency : Knowledge and Skill) ของสำนักงานอธิการบดีในยุคดิจิทัล

ข่าว/ภาพ ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

Scroll to Top