สำนักข่าว : esanbiz
URL : https://www.esanbiz.com/38642
วันที่เผยแพร่ : 20 กุมภาพันธ์ 2021
โอกาสจิ้งหรีดขอนแก่นมาถึงแล้ว!!เม็กซิโกไฟเขียวอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไทย
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยว่า มกอช.ได้รับข่าวดี-หลังเจรจากับเม็กซิโกเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดเป็นผลสำเร็จ เปิดทางยกระดับอาหารภูมิปัญญาพื้นบ้านไปสู่ตลาดโลก หวังสร้างรายได้เกษตรกร-กระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มกอช. และกรมปศุสัตว์ ได้ผนึกกำลังเปิดตลาดจิ้งหรีดเม็กซิโก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าจิ้งหรีดหลักของโลก โดยได้ร่วมจัดทำข้อมูลทางเทคนิคและเจรจากับสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัยและคุณภาพของการเกษตรและอาหาร (Servicio Nacional de Sanidad, Inocuidad y Calidad Agroalimentaria หรือ SENASICA) ของเม็กซิโก จนทำให้เม็กซิโกมีความเชื่อมั่นและให้การยอมรับระบบการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของการผลิตจิ้งหรีดตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงโรงงาน รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยและกระบวนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนการส่งออกของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เม็กซิโกได้ประกาศอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้ประกาศข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสัตว์ (Zoosanitary Requirement Sheet หรือ HRZ) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีดสายพันธุ์สะดิ้งจากประเทศไทยบนเว็บไซต์ทางการของ SENASICA
สายพันธุ์จิ้งหรีดที่ไทยได้รับอนุญาตส่งออกไปยังเม็กซิโกได้ คือ จิ้งหรีดทองแดงลาย หรือ สะดิ้ง (Acheta domesticus) ในลักษณะผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีด โดยมีเงื่อนไขการส่งออกหลัก คือ จิ้งหรีดจะต้องเลี้ยงในฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ มกษ. 8202-2560) สินค้าจะต้องไม่มีการปนเปื้อนโปรตีนจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง และต้องได้ใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) จากกรมปศุสัตว์ประกอบการส่งออก
ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีของจังหวัดขอนแก่น เพราะ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันการศึกษาลำดับต้นๆ ของประเทศ ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจิ้งหรีดมาหลายปี เริ่มต้นจาก ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และคณาจารย์อีกหลายท่าน ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับจิ้งหรีด จนเป็นที่ยอมรับกับนานาประเทศ
ล่าสุดปี พ.ศ. 2562 สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับงบประมาณสนับสนุน จากสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) และสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดทำโครงการการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
ผลการดำเนินโครงการสามารถส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ GAP จำนวน 21 ฟาร์ม มากที่สุดในประเทศไทย จาก 44 ฟาร์มทั้งประเทศ
โดยนายศรัทธา รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร เป็นส่วนหนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านปศุสัตว์ในจังหวัดขอนแก่น เพื่อหาแนวทางการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอย่างเป็นระบบ เสริมสร้างและเพิ่มทักษะ องค์ความรู้ ในการเลี้ยงจิ้งหรีดคุณภาพเชิงพาณิชย์ และ ยกระดับการเลี้ยงจิ้งหรีดสู่อาชีพหลักของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ได้ขับเคลื่อนให้จังหวัดขอนแก่น ดันเป็น’เมืองไมซ์จิ้งหรีด’ ตั้งเป้าเป็น’ฮับ’โปรตีนแมลงโลก อีกด้วย